ต้นพรหมมาสตร์ วงศ์ชาฤาษี ไม้ถิ่นเดียวของไทย อช.เขาหลวง?
พรหมมาสตร์ คืออะไร?
พรหมมาสตร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Paraboea burttii Z. R. Xu อยู่ในวงศ์ชาฤาษี Gesneriaceae พรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย (endemic) มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ (พรหมมาสตร์ คือ ชื่อศรของพระพรหมที่พระรามได้ครอบครองและใช้ปราบพวกยักษ์)
คำระบุชนิด ‘burttii’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่อดีตนักพฤกษศาสตร์สวนพฤกษศาสตร์เอดินบะระ Brian Laurence Burtt (1913-2008) หรือ Bill Burtt ชื่อที่นักพฤกษศาสตร์ที่คุ้นเคยชอบเรียก
ท่านเป็นผู้เริ่มต้นศึกษาพืชวงศ์ชาฤๅษีของไทยอย่างจริงจัง ข้อมูลที่ท่านตีพิมพ์ไว้เป็นพื้นฐานสำคัญทำให้นักพฤกษศาสตร์รุ่นหลังสานต่องานได้
ลักษณะ
พรหมมาสตร์ เป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 20 ซม. ใบเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากแนบชิดกัน รูปไข่ กว้าง 3-8 ยาว 7-15 ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มถึงรูปหัวใจตื้น ๆ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนสั้นนุ่ม ด้านล่างมีขนสีส้มอมน้ำตาลหนาแน่น ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกตามซอกใบ แฉกกลีบเลี้ยงปลายม้วนกลับ กลีบดอกแยกเป็นซีกบน 2 แฉก ซีกล่าง 3 แฉก เกสรเพศผู้ 2 เกสร ฝักตรง เกลี้ยง ไม่บิดเป็นเกลียว
ตัวอย่างต้นแบบ Bunnak 710 เก็บจากคีรีวง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1957 โดยนายบุญนาค สังขจันทร์ ผู้เก็บตัวอย่าง อาบน้ำยาพรรณไม้ อดีตเจ้าหน้าที่หอพรรณไม้
ขอขอบคุณ ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ชาฤๅษีของไทย สำหรับข้อมูลชื่อพฤกษศาสตร์และชื่อไทย
เอกสารอ้างอิง: Xu, Z., Burtt, B. L., Skog, L. E. & Middleton, D. J. 2008. A Revision of Paraboea (Gesneriaceae). Edinburgh Journal of Botany 65(2): 161–347.