ต้นหยาดศรีชล พืชถิ่นเดียวของไทย ชลบุรี พืชชนิดใหม่ของโลก?
หยาดศรีชล
หยาดศรีชล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Microchirita chonburiensis D. J. Middleton & C. Puglisi จัดอยู่ในวงศ์ชาฤาษี Gesneriaceae
ในเดือนกันยายน ปี 2562 ดร.นัยนา เทศนา และ ดร.สมราน สุดดี พร้อมกับทีมสำรวจพรรณไม้สังกัดกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้สำรวจพบหยาดศรีชลเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นได้ประสานงานกับ Dr. David Middleton และ Dr. Carmen Puglisi นักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ชาฤาษี (Gesneriaceae) ของประเทศไทยเพื่อตรวจสอบลักษณะทางอนุกรมวิธานโดยละเอียด
![ต้นหยาดศรีชล พืชถิ่นเดียวของไทย ชลบุรี พืชชนิดใหม่ของโลก](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEifmdZSoIvOETJIIXQoWZxHYmb5ocL1MmhrUo-sKshNEM_S6L2Ht1qhSzyXLBEIccge0gbqnTFmT0hpttuCRpRuI7s9tzioOYboixdVhj0ACxggoxwVMxV4IUmRZom2Nw6GZynn-VUQFclcgjBQIXOJIKPF_VQXfyQ64nvK8-QjAJTnHr59i9hFHSuaA-ml/w514-h640-rw/Microchirita-chonburiensis.jpg)
จากการตรวจสอบพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จากตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Tetsana et al. 2258
จึงได้ร่วมกันตีพิมพ์ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) ปีที่ 50(2) ปี 2023 หน้า 47-70 ซึ่งได้เผยแพร่ไปในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คำระบุชนิด "chonburiensis" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่จังหวัดชลบุรี สถานที่พบตัวอย่างต้นแบบ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 2.9-6.4 ซม. ยาว 6.3-16.3 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเว้ารูปหัวใจถึงมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนต่อมทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบ 8-16 เส้น
ช่อดอกออกที่ปลายก้านใบ กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีขนต่อมและขนละเอียดปกคลุม ดอกสีเหลืองสว่าง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก แฉกบน 2 แฉก แฉกล่าง 3 แฉก เกสรเพศผู้ติดบนโคนกลีบดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
นิเวศวิทยา
หยาดศรีชลเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกและเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ตามสังคมพืชเขาหินปูนในป่าดิบแล้ง ที่ความสูงจากระดับทะเลประมาณ 100 ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายน