✓กล้วยไม้ป่า: รองเท้านารีขาวพังงา หายาก ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง?
กล้วยไม้ป่า รองเท้านารีขาวพังงา
- ชื่อวิทยาศาสตร์: Paphiopedilum thaianum lamwir.
- สกุลย่อย: Brachypetalum (Hallier) Pfitzer
- ชื่ออื่น: รองเท้านารีไทย
- สถานภาพ: ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง [Critically Endangered (CR)]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น: เป็นกออัดกันแน่น ชอบขึ้นตามซอกหิน ใบหนาและแข็ง รูปขอบขนานแคบยาว หรือ รูปไข่กลับ ยาว 3.5 - 9.5 เซนติเมตร กว้าง 1.0 -1.4 เซนติเมตร
ปลายใบโค้งมนมีรอยหยักเล็กน้อย โคนใบมีขนขนาดเล็ก ใบด้านบนมีลวดลายหินอ่อนสีเขียวเข้มสลับสีเขียวอ่อนใต้ท้องใบสีม่วงเข้ม
ดอก: มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.3 – 4.2 เซนติเมตร ดอกค่อนข้างกลมหรือรี ก้านช่อดอกตั้ง หรือโน้มเอียง เล็กน้อย ก้านดอกยาว 6 -20 เซนติเมตร มี 1 - 2 ดอก/ช่อดอก
บางดอกมีพื้นสีขาวอมเหลืองอมเขียวจางๆ มีจุดสีม่วงขนาดเล็กกระจายอยู่บริเวณใกล้โคนกลีบ กลีบกระเป๋าโป่งพอง และมีผิวบาง มีจุดสีม่วง ขนาดใหญ่จำนวนหลายจุดบนกลีบกระเป๋าด้านใน โล่ รูปไข่กลับสีขาวแต้มเขียนตรงกลาง
ระยะเวลาออกดอก: มีนาคม – พฤษภาคม
แหล่งที่พบในประเทศไทย: เทือกเขาหินปูนในภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพังงา
เขตการกระจายพันธุ์: เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย
กล้วยไม้รองเท้านารีขาวพังงา ถูกค้นพบโดยคนไทยและรายงานครั้งแรกในวารสาร Orchid Review ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม 2549 (2006)
กล้วยไม้รองเท้านารีขาวพังงา มีลักษณะต้นและดอกคล้ายคลึงกับ รองเท้านารีขาวสตูล (P. niveum Rchb.f.) Stein) แต่มีขนาดเล็กกว่า ส่วนของดอกมีความแตกต่างที่มีจุดแต้มสีม่วงด้านในของกลีบปาก (pouch) และเกสรเพศผู้หรือโล่มีสีเขียว
กล้วยไม้รองเท้านารีขาวพังงาชนิดนี้ มีการกระจายพันธุ์ที่แคบมาก พบเฉพาะในจังหวัดพังงาเท่านั้น มีพื้นที่การกระจายพันธุ์ไม่เกิน 8 ตารางกิโลเมตร และพบแค่ประชากรเดียว
ซึ่งมีประชากรย่อยละไม่เกินห้าสิบคอ และประชากรย่อย เกือบทุกประชากรย่อย ถูกคุกคามจากไฟป่าที่เกิดจากมนุษย์ และการเก็บกล้วยไม้ป่าไปขาย
ปัจจุบันมีนักเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ไทยประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงรองเท้านารีขาวพังงาในสถานที่เพาะเลี้ยง ทำให้มีต้นพ่อแม่พันธุ์และไม้เมล็ดจากห้องปฏิบัติการมากขึ้น.