✓ต้นไม้: 'ตะแบก' มีกี่พันธุ์ ลักษณะดอก ผลตะแบก จุดแตกต่าง?
พรรณไม้ชนิดนี้ ดร. François Gagnepain นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ตั้งเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ตีพิมพ์ลงในวารสาร Notulae Systematicae. Herbier du Museum de Paris เล่มที่ 3 หน้า 361 ค.ศ. 1918
ตะแบก
ตะแบก เดิมใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ หรือ ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Lagerstroemia siamica Gagnep. ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข Pierre 819 เก็บจากป่าในท้องที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
คำระบุชนิด “siamica” ตั้งตามชื่อประเทศสยาม ชื่อเดิม ของประเทศไทย สถานที่ที่พบพรรณไม้ชนิดนี้เป็นแห่งแรก
ต่อมาพบว่า ชื่อพฤกษศาสตร์นี้ เป็นชื่อพ้อง (synonym) ของ Lagerstroemia floribunda Jack var. cuspidata Wall. ex C.B.Clarke ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1879 ในวารสาร The Flora of British India เล่มที่ 2 หน้า 577
ดังนั้น จึงสรุปว่า ตะแบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ หรือ ชื่อพฤกษศาสตร์ คือ Lagerstroemia floribunda Jack var. cuspidata Wall. ex C.B.Clarke วงศ์ Lythraceae
ลักษณะตะแบก
ไม้ต้น สูง 4-25 ม. เปลือกเรียบเป็นมัน สีเทาอมขาว แตกร่อนเป็นหลุมตื้น ๆ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง 2-10 ซม. ยาว 6-20 ซม. ปลายมนหรือเป็นติ่งแหลม โคนรูปลอมหรือมน ก้านใบยาว 2 -7 มม. ใบอ่อนมีขนรูปดาว
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาว 20-50 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 5-6 มม. มีสัน 12 สันชัดเจน กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ มีติ่งคล้ายหู (auricle) ระหว่างแฉกกลีบ กลีบดอกสีม่วงหรือสีชมพู เปลี่ยนเป็นสีขาว ก่อนร่วง รูปขอบขนาน ยาว 8-15 มม.
เกสรเพศผู้แบบทวิสัณฐาน เกสรด้านนอกมี 6-7 เกสร ยาวกว่าเกสรด้านใน
ผลแบบ ผลแห้งแตก รูปทรงรี เกลี้ยง มีขนที่ปลายผล เมื่อแห้งแตกเป็น 5-6 ซีก เมล็ดขนาดเล็ก มีปีก.
ตะแบกมีกี่พันธุ์
ตะแบก Lagerstroemia floribunda Jack มี 3 พันธุ์ (variety)
1. ตะแบก Lagerstroemia floribunda Jack var. cuspidata Wall. ex C.B.Clarke มีลักษณะเด่น คือ หลอดกลีบเลี้ยงมีสัน 12 สันชัดเจน และมีติ่งคล้ายหู ระหว่างแฉกกลีบ พบที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ ที่จังหวัดชุมพร พังงา กระบี่ สตูล ขึ้นในป่าเบญจพรรณ เขาหินปูน ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ต่างประเทศพบที่เมียนมาและคาบสมุทรมลายู
2. ตะแบกนา Lagerstroemia floribunda Jack var. floribunda หลอดกลีบเลี้ยงมีสัน 12 สันชัดเจน แต่ไม่มีติ่ง คล้ายหูระหว่างแฉกกลีบ พบทุกภาค
3. ตะแบกทะเล Lagerstroemia floribunda Jack var. sublaevis Craib หลอดกลีบเลี้ยงไม่มีสันหรือมีสันไม่ชัดเจน และไม่มีติ่งคล้ายหูระหว่างแฉกกลีบ เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะ ที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง และเกาะช้าง จังหวัดตราด