กล้วยไม้ป่า เอื้องแซะหลวง, เอื้องแซะหอม กล้วยไม้ดอกหอมของไทย ลักษณะดอก?
เอื้องแซะหลวง, เอื้องแซะหอม
กล้วยไม้ เอื้องแซะหลวง มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Dendrobium scabrilingue Lindl. มีชื่ออื่นว่า เอื้องแซะหอม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กล้วยไม้อิงอาศัย
ลำต้น: รูปลำลูกกล้วยตั้งตรง สูง 10-20 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้น 0.6-1 ซม. บริเวณข้อคอดเล็กน้อย ผิวต้นเป็นร่องตื้นๆ ตามยาว และมีขนสั้นละเอียดสีดำ
ใบ: มี 3-4 ใบ ใกล้ยอด รูปรี ขนาด 5-6 x 1.5-2 ซม. ปลายหยักเว้าไม่เท่า แผ่นใบค่อนข้างหนา และเหนียว
ภาพสวยๆ จาก SIB Orchid
- ระยะเวลาออกดอก: พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
- เขตการกระจายพันธุ์: กัมพูชา พม่า ไทย และลาว
- แหล่งที่พบในประเทศไทย: ป่าดิบแล้งทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก นครราชสีมา ตราด กาญจนบุรี
ดอก: ช่อออกตามข้อใกล้ๆ ยอด มี 1-3 ดอก/ช่อ เกิดได้ทั้งต้นที่มีใบและทิ้งใบแล้ว ก้านดอกยาว 1-1.5 ซม. ขนาดดอกประมาณ 2 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอก รูปไข่ ขนาดเท่ากัน สีขาวหรือขาวอมเขียว กลีบปาก สีเหลืองแกมเขียว โคนกลีบตั้ง มีลายสีเขียว กลางกลีบ สีเหลืองถึงสีส้ม มีสัน 3 - 4 สัน พาดตามยาว ดอกมีกลิ่นหอม
การใช้ประโยชน์
ดอกเอื้องแซะหลวง (เอื้องแซะหอม) ดอกมีกลิ่นหอม สารหอมในดอกประกอบด้วย n-butanol, linalyl acetate, cis-3 hexanol, linalool, benzyl alcohol phenyl acetate, nerolidol methyl authanilate B- ionone vanillin ที่สกัดจากดอกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมได้ (ประเทือง และคณะ, 2538)
ความหมาย
เอื้องแซะเป็นกล้วยไม้สัญลักษณ์แห่งความรักและการรอคอย ความหอมยากนักที่จะลืม กล่าวกันว่า กลิ่นหอมของดอกเอื้องแซะนั้น แม้จะได้กลิ่นเพียงชั่วขณะหนึ่ง ก็หอมหวนติดตรึงหัวใจไปแสนนาน เป็นกลิ่น หอมที่ทำให้รู้สึกเย็นสบาย สดชื่น และเยือกเย็น
ดอกเอื้องแซะจึงได้เป็นตัวแทนแห่งความรักที่มั่นคง ดั่งความเชื่อที่ว่าหากชายใดได้เอาดอกเอื้องแซะแซมผมให้หญิงคนรักแล้วนั้น จะเป็นสิ่งที่ทำให้คนรักรับรู้ได้ว่า ชายผู้นั้นมีความรักต่อเธอจริง ยกย่องเธอเสมอเหมือนที่เอื้องแซะเป็นของสูงที่ต้องคู่ควรกับหญิงสาวที่ตนรัก (ข้อมูลจากเพจ : ชุมชนคนรักพรรณไม้)
นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงโปรด กลิ่นหอมของดอกเอื้องแซะมาก และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้มีการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เอื้องแซะหลวงชนิดนี้ เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น
พร้อมให้ดูแลรักษาพันธุ์กล้วยไม้เอื้องแซะ ห้ามไม่ให้นำพันธุ์ออกจากป่า และให้เพิ่มจำนวนคืนสู่ป่าธรรมชาติ (ประเทือง สินชัยศรี ชูเกียรติ เทพสาร และนงเยาว์ ทองตัน, 2538. การวิจัยและพัฒนาสกัดกลิ่นหอมจาก ดอกกล้วยไม้ป่าเอื้องแซะ, วารสารวิชาการเกษตร, 13(2), 136-141.)