ต้นหมากว้อ(หมาว้อ) ผลสุกกินได้ ประโยชน์ สรรพคุณทางสมุนไพร ลักษณะ ผลไม้ป่า?
หมากว้อ (หมาว้อ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
หมากว้อ (หมาว้อ) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Lepisanthes senegalensis (Poir.) Leenh. จัดเป็นพืชในสกุล Lepisanthes อยู่ในวงศ์เงาะ (Sapindaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มสมุนไพร
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า หมากว้อ (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นหมากว้อ มีชื่ออื่นที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า ชำมะเลียง ลำเนียงป่า (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก), กะพงเวียง (อ.ชุมพวง นครราชสีมา), หมาว้อ หมากว้อ เครือหมาว้อ (อีสาน), บักหวดข่าเขมร (อ.เมือง อุบลราชธานี), มะหวดคา (ภูไท-อ.พรรณานิคม สกลนคร), ปวงบายริง (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์)
ประโยชน์ของหมากว้อ
photo by กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้.
การใช้ประโยชน์ของหมากว้อ (หมาว้อ) สามารถนำมาเป็นอาหาร ผลสุก สีดำ รสหวานอมฝาด กินเป็นผลไม้ (รสชาติคล้าย ชำมะเลียง Lepisanthes rubiginosa แต่มี เนื้อน้อย) และ ใช้ผลสุก หมักทำไวน์
หมากว้อ ออกดอกเดือนไหน
ต้นหมากว้อ (หมาว้อ) ออกดอกช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ผลแก่เดือน มีนาคม - พฤษภาคม
นิเวศวิทยา
ต้นหมากว้อ (หมาว้อ) ในประเทศไทยพบขึ้นตามชายป่าดงดิบ ป่าผลัดใบที่ถูกรบกวน และป่าบุ่งป่าทาม ในเขตที่ราบน้ำท่วมถึง หรือตามริมแม่น้ำลำคลอง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของหมากว้อ (หมาว้อ) พบกระจายพันธุ์ทั่วประเทศ ต่างประเทศพบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในทวีปแอฟริกา เกาะมาดากัสการ์ ภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนตอนใต้ จนถึงเกาะนิวกินี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหมากว้อ (หมาว้อ)
- ลักษณะวิสัย: ไม้พุ่ม สูง 2-6 ม.
- ลำต้น: เปลือกเรียบสีน้ำตาล ตามกิ่งอ่อน ใบ แกนใบ และก้านใบ เกลี้ยง
- ใบ: ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน แกนใบยาว 1-6 ซม. มีใบย่อยเรียงตรงกันข้าม 1-3 คู่ แต่ส่วนใหญ่จะเพียงพบ 1 คู่ หรือใบย่อยลดรูปหายไปเหลือเพียง 1 ใบย่อยเท่านั้น ใบย่อยรูปขอบขนาน-รูปรี ยาว 7-20 ซม. ปลายใบแหลม มน หรือเว้าบุ๋มเล็กน้อย โคนใบมน-แหลม ก้านใบย่อยยาวไม่เกิน 2 มม. บวมพอง เนื้อใบค่อนข้างหนาเหนียว
- ดอก: ช่อดอกแบบแยกแขนง ยาว 15-40 ซม. ออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงสีเขียวหรือสีม่วงแดง รูปค่อนข้างกลม ยาว 1-4 มม. กลีบดอกสีขาว-ชมพู รูปไข่กลับ ยาว 2-4 มม. ก้านดอกย่อยยาว 1-4 มม. มีข้อต่อบวม
- ผล: ผลมี 1-2 พูติดกันที่โคน แต่ละพูรูปรี-เกือบกลม ยาว 1-1.5 ซม. ปลายกลม ผลอ่อนสีเขียว ผิวเกลี้ยงมีนวลขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ชมพู และม่วงดำ ตามลำดับเมื่อสุก เนื้อหุ้มเมล็ดบางและฉ่ำน้ำ มี 1 เมล็ด/พู สีน้ำตาลเข้ม ผิวมัน
สรรพคุณทางด้านสมุนไพร
- ผลสุก กินรักษาอาการท้องร่วง ท้องเสีย
- ราก ต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง ท้องเสีย, ย่างไฟ แล้วแช่น้ำดื่มรักษาโรคซาง
- รากหรือลำต้น ฝนทารักษาโรคร่องแก้ว (โรคงูสวัด)
- ต้น แช่น้ำดื่มแก้ไข้ บำรุงร่างกาย