✓ต้นไม้: มะดัน (หมากกะดัน) ลักษณะ ประโยชน์ ใช้แทนมะนาว?
มะดัน, หมากกะดัน (Madan)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
มะดัน (หมากกะดัน) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Garcinia schomburgkiana Pierre จัดเป็นพืชในสกุล Garcinia อยู่ในวงศ์มังคุด (Clusiaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ผล
ชื่อไทย
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า มะดัน (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นมะดัน มีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า Madan และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า มะดัน (ภาคกลาง, อ.ชุมพวง นครราชสีมา), กะดัน หมากกะดัน หมากดัน (อีสาน), ส้มพอดี (อ.เมือง สกลนคร), สะนัน (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์), กัลสดัน คัลคิล (ส่วย-อ.ท่าตูม สุรินทร์)
นิเวศวิทยา
ต้นมะดัน (หมากกะดัน) ในประเทศไทยพบชอบขึ้นตามริมน้ำ หรือป่าบุ่งป่าทาม มักพบตามชายป่าหรือที่ร่มรำไร ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 200 ม.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของมะดัน (หมากกะดัน) ในไทยนิยมปลูกไว้ตามสวนผลไม้ แต่ในธรรมชาติค่อนข้างหายาก พบในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ยกเว้นลุ่มน้ำโมงยังไม่พบ) ภาคตะวันออก และภาคใต้ ต่างประเทศพบในกัมพูชา และเวียดนามตอนใต้
มะดัน (หมากกะดัน) ออกดอกเดือนไหน
ต้นมะดัน (หมากกะดัน) ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน ผลแก่พฤษภาคม - พฤศจิกายน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะดัน (หมากกะดัน)
- ลักษณะวิสัย: ไม้พุ่ม สูง 3-10 ม.
- ลำต้น: เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ต้นอายุน้อยเปลือกเรียบ ต้นแก่เปลือกแตกสะเก็ดหนาคล้ายเกล็ดจระเข้ เมื่อเป็นแผลจะมีน้ำยางสีเหลืองขุ่น ทั้งต้นเกลี้ยงไม่มีขน
- ใบ: ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรี ยาว 5-12 ซม. ปลายและโคนใบแหลม-มน เนื้อใบหนา ผิวมันเงา ใบอ่อนมีรสเปรี้ยว เส้นแขนงใบข้างละ 10-15 เส้น เห็นไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 0.7-1.5 ซม.
- ดอก: ดอกแยกเพศแต่อยู่ในต้นเดียวกัน ดอกออกเป็นกระจุก 1-3 ดอก/กระจุก ตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ กลีบดอกสีส้มอมชมพู โคนกลีบสีเข้มกว่า ดอกบาน กว้าง 1-1.5 ซม. ก้านดอกยาว.2-5 มม.
- ผล: ผลรูปรีหรือโค้ง กว้าง 3-4.5 ซม. ยาว 4-10 ซม. ปลายผลกลม-แหลม ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ผิวมันใส
- เมล็ด: มี 6-8 เมล็ด แต่เป็นเมล็ดที่สมบูรณ์เพียง 1-3 เมล็ด รูปรียาวและแบน สีดำ
ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ของมะดัน (หมากกะดัน) สามารถนำมาเป็นอาหาร โดยใช้ยอดอ่อนและใบอ่อน รสเปรี้ยวจัด กินเป็นผักสดหรือย่างไฟก่อน แล้วจิ้มน้ำพริกหรือกินแกล้มลาบก้อย, ใบอ่อนหรือผลดิบ-สุก รสเปรี้ยวจัดใช้แทนมะนาว ใส่ในต้มปลา/หมู/เนื้อ, ผลใช้ตำน้ำพริก ตำส้ม หรือจิ้มเกลือกินเล่น หรือทำผลไม้ดอง/แช่อิ่ม
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใบมะดัน (ระยะเพสลาด) ช่วยฟอกเลือดในสตรี และใช้ในตำรับ ยาฟอกเลือด ช่วยฟอกเลือด
ประโยชน์ด้านอื่นของต้นมะดัน
มีเนื้อไม้ที่ไม่คงทน เพราะมอดชอบกิน จึงมักใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง ไม้ใช้ทำฟืนหรือเผาถ่านได้ไฟแรง