ต้นมั่งมี (เฉียงพร้านางแอ) มั่งมีศรีสุข ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?
ต้นมั่งมี คือต้นอะไร
ต้นมั่งมี คือพรรณไม้ที่ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ที่มีลักษณะเด่นคือ ฟอร์มต้น รูปทรงกิ่งพุ่มสวยงาม จึงที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็น ไม้ประธานจัดสวน มีสรรพคุณทางสมุนไพร
ชื่อพรรณไม้ ชื่อไทยที่เป็นชื่อทางการ คือ เฉียงพร้านางแอ ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557)
มีชื่อทางการค้า ว่า "ต้นมั่งมี" หรือ "มั่งมีศรีสุข" เป็นชื่อมงคล ช่วยกระตุ้นในการซื้อขาย และนิยมปลูกกันมากขึ้น ซึ่งคาดว่าที่มาของชื่อต้นมั่งมี อาจมาจากชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น เช่น ต้นมัง, สะมัง, ชะมัง, มงมัง, หมักมัง เป็นต้น
ชื่ออื่น ๆ ชื่อพื้นเมือง ชื่อท้องถิ่น
ต้นมั่งมี ยังมีชื่ออื่น ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น นกข่อ ส้มป้อง (เชียงใหม่), บงคด องคต (ลำปาง, แพร่), เฉียงพร้านางแอ สันพร้านางแอ สีฟัน-นางแอ (ภาคกลาง), เขียงพร้า เขียงพร้านางแอ (ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, ตราด), คอแห้ง สีฟัน (ภาคใต้), หมักมัง (ปราจีนบุรี), มัง (อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, ยโสธร, ร้อยเอ็ด), มงมัง ชะมัง สะมัง (มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, อ.เจริญศิลป์ สกลนคร, อ.บ้านดุง อุดรธานี), บกนัง บุ้งนัง (อ.เมือง อ.พรรณนิคม สกลนคร, อ.ศรีสงคราม นครพนม), กูมุย ตระเมง (เขมร-สุรินทร์), เมงมัง (ส่วย-อ.ท่าตูม สุรินทร์)
ข้อมูลจากผลการค้นหาในกูเกิล พบว่า คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ชื่อว่า "ต้นมั่งมี" มากกว่า ดังนั้นในบทความนี้ เราจึงขอใช้ชื่อว่า มั่งมี ตามความนิยม
นิเวศวิทยา
ต้นมั่งมี ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าดงดิบ ในป่าเบญจพรรณและป่าบุ่งป่าทามจะชอบขึ้นใกล้แหล่งน้ำ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,300 ม.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของต้นมั่งมี พบได้ง่าย กระจายพันธุ์ไปทั่วประเทศ ต่างประเทศพบในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนตั้งแต่เกาะมาดากัสการ์ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนตอนใต้ ออสเตรเลียตอนเหนือ และหมู่เกาะแปซิฟิก
ต้นมั่งมี ภาษาอังกฤษ
- ชื่อสามัญ ต้นมั่งมี ภาษาอังกฤษ คือ Freshwater Mangrove Tree
- ชื่อวิทยาศาสตร์ ต้นมั่งมี คือ Carallia brachiata (Lour.) Merr.
- ต้นมั่งมี อยู่ในวงศ์โกงกาง (Rhizophoraceae)
ต้นมั่งมี ออกดอกเดือนไหน
ต้นมั่งมี ออกดอกช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ ผลแก่เดือนมีนาคม - เมษายน
ลักษณะ ต้นมั่งมี
- ลักษณะวิสัย: ไม้ต้น สูงได้ถึง 30 ม.
- ลำต้น: เปลือกสีเหลืองอ่อน-น้ำตาล เรียบ ต้นแก่เปลือกแตกเป็นช่องสี่เหลี่ยมเนื้อหนาและนุ่มแบบไม้ก๊อกจุกขวด ตามกิ่งอ่อน ช่อดอก และก้านใบเกลี้ยง ปลายกิ่งมีหูใบหุ้มยอดเรียวแหลม
- ใบ: ใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม รูปไข่กลับ-รี ยาว 5-15 ซม. ปลายใบมน-กลม โคนใบมน-แหลม ขอบใบเรียบและม้วนลงเล็กน้อย ต้นอ่อนขอบใบจักฟันเลื่อย ผิวใบเกลี้ยงเป็นเงามัน เนื้อใบหนา มีเส้นแขนงใบข้างละ 13-16 เส้น มองเห็นไม่ชัดเจนที่ผิวใบด้านบน ก้านใบยาว 1 ซม.
- ดอก: ช่อดอกแยกแขนง ออกเป็นกลุ่มแน่นตามซอกใบ ยาว 2-6 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 6-7 กลีบ กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน รูปสามเหลี่ยม ยาว 3-4 มม. กลีบดอกสีขาว ค่อนข้างกลมและหยิกย่น กว้าง 1.5 มม. จานฐานดอกสีเหลืองเข้ม ไม่มีก้านดอกหรือก้านดอกสั้นมาก
- ผล: ผลทรงกลม กว้าง 5-7 มม. ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลสุกสีแดงมีเนื้อฉ่ำน้ำ มี 1-5 เมล็ด รูปไต
ประโยชน์ ต้นมั่งมี
นอกจากนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ต้นไม้มงคล สำหรับจัดสวนแล้ว การใช้ประโยชน์ของต้นมั่งมี สามารถนำมาเป็นอาหาร โดยใช้ผลสุก สีแดง รสหวานอมเปรี้ยว กินเป็นผลไม้ และผลสุก ยังเป็นอาหารของนกและสัตว์ป่า
สรรพคุณทางด้านสมุนไพร
- ต้นหรือกิ่ง ตากแห้ง ต้มผสมกับ รสสุคนธ์/ฮิ้นแฮด (Tetracera spp.) ดื่มรักษาโรคซาง
- เปลือกหรือแก่น เข้ายาอื่นๆ ต้มน้ำดื่มและอาบ แก้กินของผิดสำแดงในแม่ลูกอ่อน
- ทุกส่วน เข้ายาอื่นๆ ต้มน้ำดื่ม เป็นยาระบาย รักษาท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ทุกส่วน ต้มน้ำดื่ม ถอนพิษไข้ พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
- เนื้อไม้ : ใช้เข้ายา ต้มดื่ม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- เปลือก : แก้บิด ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดท้อง
- ราก : ต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน แก้อุจจาระเป็นฟอง แก้พิษตานซาง;
- ใบ : ตำพอกแก้บาดแผลอักเสบ แก้ฝีหนอง ปวดศีรษะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ;
- ผลและเมล็ด : ตำแช่ในน้ำมันทาแก้โรคผิวหนัง สมานแผล แก้ฝีชนิดต่าง ๆ ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้อหิวาตกโรค อุจจาระเป็นฟอง-เหม็นคาว เป็นยาแก้ไข้ แก้ระดูขาว
- เปลือกและราก : แก้ไข้ตัวร้อน แก้ท้องร่วง แก้แผลอักเสบ ช่วยสมานแผล
- เปลือกและใบ : แก้ไข้
- เนื้อไม้ : บำรุงกำลัง
- ตำรับ ยาจันทน์ลีลา แก้ไข้ ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
การใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่น ใช้ไม้ใช้ทำฟืน หรือเผาถ่าน เป็นเชื้อเพลิง และใช้ในการก่อสร้างหรือเครื่องมือ เนื่องจากเนื้อไม้แข็งแรง มีลายสวยงาม แปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง ทำเสาบ้าน