ต้นหนามพุงดอ ผลสุกกินได้ ประโยชน์ สรรพคุณ หนามทิ่มปวด?
หนามพุงดอ
หนามพุงดอ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Azima sarmentosa (Blume) Benth. & Hook.f. จัดเป็นพืชในสกุล Azima อยู่ในวงศ์ Salvadoraceae ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มสมุนไพร
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Actegeton sarmentosum Blume
- Azima nova Blanco
- Azima scandens Baill.
- Monetia brunoniana Wall.
- Monetia laxa Planch.
- Monetia sarmentosa Baill.
- Salvadora madurensis Decne.
ชื่อไทย
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า หนามพุงดอ (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นหนามพุงดอ ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า พุงดอ หนามพุงดอ (ภาคกลาง), ขี้แฮด ปี๊ดเต๊าะ (เชียงใหม่), พุงดอ หนามพุงดอ หนามจาง (ไทโคราช-อ.ชุมพวง นครราชสีมา), หนามจาน (ไทลาว-อ.เมืองยาง นครราชสีมา), หนามขี้แฮด (อ.มัญจาคีรี ขอนแก่น)
นิเวศวิทยา
ต้นหนามพุงดอ ในประเทศไทยพบขึ้นตามที่โล่งแจ้ง ที่รกร้าง ป่าละเมาะ หรือชายป่าที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอากาศแห้งแล้ง ดินปนทราย หรือดินเค็ม พบมากตามพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล ในป่าบุ่งป่าทามมักพบตามเนินดินหรือจอมปลวก ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 800 ม.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของหนามพุงดอ พบได้ง่ายตามจังหวัดที่ติดทะเลรอบอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดระยอง ไปจนถึงนครศรีธรรมราช ในแผ่นดินเข้ามาจะพบที่จังหวัดราชบุรี ปราจีนบุรี ลำพูน เชียงใหม่ สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบไม่บ่อยนัก ในจังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น
ต่างประเทศพบทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเกาะไฮหนาน และเกาะนิวกินี
หนามพุงดอ ออกดอกเดือนไหน
ต้นหนามพุงดอ ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ผลแก่ พฤษภาคม - มิถุนายน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหนามพุงดอ
- ลักษณะวิสัย: ไม้เลื้อย ยาวได้ถึง 7 ม.
- ลำต้น: เปลือกเถาแก่สีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามยาวมีเนื้อนุ่มหนา ทุกส่วนบนต้นเกลี้ยง ไม่มีขน กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีหนามแหลมคม 1-2 คู่/ซอกใบ ยาว 1-1.5 ซม. ปลายหนามสีดำ
- ใบ: ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ หรือรูปรีกว้าง ยาว 2-6 ซม. ปลายใบแหลม-เรียวแหลม และมีหนามสีดำยาว 1-2 มม. โคนใบมน-เว้าเล็กน้อย ผิวใบมันเงา เนื้อใบหนา เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุน มีเส้นแขนงใบข้างละ 6-8 เส้น ก้านใบยาว 6-8 มม.
- ดอก: ช่อดอกแบบกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ยาว 5-25 ซม. ดอกแยกเพศ สีเหลืองอมเขียว ดอกบานกว้าง 5 มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงรูประฆัง แฉกกลีบเลี้ยง ยาว 2 มม. กลีบดอกยาวกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย
- ผล:ผลทรงกลม กว้าง 5-6 มม. มีเนื้อฉ่ำน้ำ ผลอ่อนสีขาวขุ่น เมื่อสุกมีสีขาวใส มี 1-3 เมล็ด
ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ของหนามพุงดอ สามารถนำมาเป็นอาหาร ผลสุก กินเป็นผลไม้, ยอดอ่อน มีกลิ่นฉุน ใช้เป็นเครื่องเทศดับคาว เช่น คั่วใส่หนู
สรรพคุณ ทางสมุนไพร
รากสดมีกลิ่นเหม็น ตากแห้ง ใช้เข้ายาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
โดยใช้ราก ต้มน้ำดื่มแก้ปวดเมื่อย, ราก ฝนเข้ายาอื่นๆ ดื่มแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ, ต้มน้ำดื่มรักษาโรคริดสีดวงทวาร, ใช้ใบ แช่น้ำให้เด็กอาบ ทำให้แผลอีสุกอีใสหายเร็ว
ข้อควรระวัง!
ต้นหนามพุงดอ หนามมีพิษ เมื่อโดนแทง ปลายหนามสีดำจะหักคา ปวดมากและทำให้แผลอักเสบได้