✓ต้นไม้: หญ้าหวาน ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีการปลูก ดูแลรักษา?

หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana (Bertoni) ชื่อสามัญ Stevia จัดอยู่ในวงศ์ Asteraceae เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลักษณะคล้ายต้นกะเพราหรือต้นแมงลัก มีสาร Stervioside ซึ่งเป็นสารให้ความหวานคล้ายคลึงกับน้ำตาลทรายมาก และมีความหวานประมาณ 250 - 300 เท่าของน้ำตาลซูโครส

หญ้าหวาน (Stevia)

หญ้าหวานมีสารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย เนื่องจากไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงานในร่างกาย จากคุณสมบัติของสารหวานดังกล่าว ปัจจุบันมีการนำมาใช้เป็นสารที่ให้ความหวานสำหรับอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท

ต้นไม้: หญ้าหวาน ประโยชน์ สรรพคุณ วิธีการปลูก ดูแลรักษา

โดยใช้แทนน้ำตาลทรายบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือลดปริมาณแคลอรี่ในอาหาร และเครื่องดื่มสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ใบเป็นรูปหอกกลับ (oblanceolate) ปลายใบแหลม(acute) ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย (serrate) แผ่นใบเรียบ สีเขียวสดและงุ้มเข้ากลางแผ่นใบ ใบมีขนเล็ก ๆ ปกคลุมทั่วทั้งใบ และพบมากบริเวณผิวใบด้านบน

ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด (terminal) เรียงแบบตรงข้าม (opposite) มีก้านดอกสั้น กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ รูปหอกหรือรูปไข่(lanceolate-ovate) แผ่นกลีบดอกมีสีขาว มีเกสรเพศผู้และเพศเมียในดอกเดียวกัน ผลหญ้าหวานเป็นชนิดผลแห้งเมล็ดอ่อน (achene) มีขนาดเล็ก ไม่ปริแตกเมื่อผลสุกแก่

งานวิจัยหญ้าหวาน

ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวนกรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการสำรวจสายต้นหญ้าหวานในปี พ.ศ. 2559 – 2560 ในพื้นที่แปลงเกษตรกรที่ผลิตหญ้าหวานเชิงการค้า จ. เชียงใหม่ เพื่อให้ได้สายพันธุ์หญ้าหวานที่มีคุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง โดยสามารถรวบรวบได้ 4 สายต้น คือ

  1. สายต้น SM-OL1 มีลักษณะเด่น ที่ใบ ค่อนข้างใหญ่แผ่กว้าง ใบดก มีขนปกคลุมที่ใบชัดเจน และลำต้นสูง
  2. สายต้น SM-OL2 มีลักษณะเด่น คือ ยอดอ่อนมีสีม่วง
  3. สายต้น SM-OL3 ใบมีลักษณะเรียวแคบและยาว
  4. สายต้น SM-OL4 ลำต้นมีลักษณะทรงพุ่มเตี้ย มีใบค่อนข้างเล็กและสั้น เมื่อวิเคราะห์ DNA ด้วยเทคนิค RAPD พบว่าหญ้าหวานทั้ง 4 สายต้น มีความแตกต่างทางพันธุกรรมทั้งหมด 

จากการนำผลผลิตหญ้าหวานแต่ละสายต้น ที่เก็บเกี่ยวหลังปลูก 135 วัน นำมาวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ สตีวีโอไซด์ ซาโปนิน และฟีนอล รวมทั้งวัดค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ สามารถสรุปได้ว่า

  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL2 มีปริมาณสารสตีวิโอไซด์มากที่สุด เท่ากับ 10.6 mg. stevioside/g sample/dw
  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL1 มีปริมาณสารประกอบฟีนอลมากที่สุด เท่ากับ 5.80 mg galic/g sample 
  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL3 มีปริมาณสารซาโปนินมากที่สุด เท่ากับ5.20 mg/g sample/dw
  • หญ้าหวานสายต้น SM-OL4 มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 7.74

เมื่อพิจารณาปริมาณผลผลิตและปริมาณสารสำคัญหลักคือ สารสตีวีโอไซด์ พบว่าหญ้าหวานสายต้น SM-OL2 มีลักษณะที่เหมาะสมในการส่งเสริมปลูกเชิงการค้ามากที่สุด โดยในการคัดเลือกสายต้นหญ้าหวานนั้น หากต้องการสายต้นหญ้าหวานที่ให้ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญ รวมทั้งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่สูง ควรมีการนำทุกสายต้นมาปลูกทดสอบร่วมกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูการตอบสนองด้านการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิต และปริมาณสารสำคัญที่ได้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพันธุ์หญ้าหวานเพื่อปลูกเชิงการค้าต่อไป

การปลูกและดูแลรักษา

1. การเตรียมแปลงปลูก

ถางพื้นที่กำจัดวัชพืช ทำการไถพรวนหลายรอบหรือไถพรวน 2 ครั้ง เพื่อให้พื้นที่เรียบและสม่ำเสมอกัน จากนั้นขึ้นแปลงหรือยกร่อง ขุดดินพูนให้เป็นแปลงสูงจากพื้นดิน ประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร ขนาดแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยเว้นระยะห่างระหว่างแปลง 30 – 50 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 20 - 30 เซนติเมตร พื้นที่ปลูกควรและมีการระบายน้ำที่ดี 

2. การขยายพันธุ์ ทำได้ 2 วิธี คือ

- การเพาะกล้าจากเมล็ด จะเก็บเมล็ดในช่วงเดือนพฤศจิกายน วิธีเก็บใช้ถุงพลาสติกครอบดอก เขย่าให้เมล็ดร่วงลงในถุง นำเมล็ดมาเพาะในเดือนมีนาคม - เมษายนจะมีอัตราการงอกดี มีข้อดี คือ ทำได้รวดเร็ว ลำต้นแตกกิ่งมากให้ผลผลิตสูง และเก็บเกี่ยวได้นานหลายฤดูปลูก รวมถึงทนต่อโรคและแมลงได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ มีค่าเมล็ดพันธุ์สูง อายุความมีชีวิตสั้น และเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง อาจมีผลทำให้ปริมาณสารให้ความหวานลดลงหรือผลผลิตต่ำลง

- การปักชำกิ่ง เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็วในการปฏิบัติ โดยเลือกตัดกิ่งที่สมบูรณ์และแข็งแรง ตัดเกือบถึงโคนต้นให้เหลือใบอยู่ 2 คู่แล้วตัดกิ่งที่จะนำมาชำให้ยาว 12 – 15 เซนติเมตร แล้วนำมาเพาะในถุงหรือกระบะเพาะ เด็ดใบออกก่อน เพราะถ้ารดน้ำความหวานของใบจะลงสู่ดิน ทำให้กล้าที่ชำไว้ตายได้

เมื่อกิ่งชำแตกรากออกมาได้ 10 – 14 วัน จึงนำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ มีข้อดี คือ ประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ ไม่เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ลำต้นแตกกิ่งน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตที่ได้ต่ำกว่าการปลูกจากเมล็ด รวมถึงลำต้นอ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคและแมลง เนื่องจากมีระบบรากที่ไม่แข็งแรง

การปลูกและดูแลรักษา หญ้าหวาน

3. การปลูก

นำต้นกล้าที่ขยายพันธุ์ได้ ซึ่งมีใบจริง 2 คู่ใบ ปลูกในแปลงที่มีการผสมดินปลูกกับปุ๋ยคอกหรืออินทรียวัตถุ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

4. การให้น้ำ

ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 - 3 ครั้ง

5. การเก็บเกี่ยว

ในการเก็บเกี่ยวหญ้าหวานครั้งแรกควรทำหลังการปลูกได้ประมาณ 40 - 45 วัน หลังจากนั้นให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวได้เรื่อย ๆ ทุกระยะ 40 - 45 วันหรือเก็บเกี่ยวก่อนพืชเริ่มออกดอก และเก็บเกี่ยวได้ประมาณปีละ 6 – 8 ครั้ง ผลผลิตจะสูงในช่วงเดือนพฤษภาคม -กรกฎาคม หลังจากนั้นจะเริ่มแก่และออกดอก

ในระหว่างนี้หญ้าหวานจะหยุดการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตน้อยในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม การเก็บเกี่ยวหญ้าหวานให้เกษตรกรฉีดน้ำล้างฝุ่นออกก่อน จึงค่อยตัดกิ่งและเด็ดใบออก ข้อควรระวัง ไม่ควรตัดกิ่งหญ้าหวานก่อนนำไปล้างน้ำ เพราะความหวานจะละลายไปกับน้ำ ทำให้คุณภาพต่ำลงไปด้วย

6. ช่วงเวลาปลูกที่เหมาะสม

หญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็นในการเจริญเติบโตและพัฒนา อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 20 – 26 องศาเซลเซียส และขึ้นได้ดี เมื่อปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 – 700เมตร

สรรพคุณของหญ้าหวาน

  • สมุนไพรหญ้าหวานช่วยเพิ่มกำลังวังชา
  • ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
  • ช่วยในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยลดไขมันในเลือด
  • ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
  • ช่วยบำรุงตับ
  • ช่วยสมานแผลทั้งภายในและภายนอก

สารสำคัญ

สารสำคัญที่ทำให้มีรสหวานในหญ้าหวานเป็นสารประกอบพวกไดเทอร์พีนกลัยโคไซด์ ซึ่งมีอยู่หลายชนิดคือ steviol,steviolbioside, stevioside, rebaudioside A-F และdulcoside A โดยพบว่า stevioside เป็นสารที่พบในปริมาณมากที่สุดคือประมาณร้อยละ 2.0 - 7.7 รองลงมาคือrebaudioside ประมาณร้อยละ 0.8 - 2.9 ส่วนสารตัวอื่นจะพบในปริมาณน้อย

หญ้าหวาน นอกจากจะสามารถนำมาปรุงรสหวานในอาหารและให้ความหวานในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มาจากธรรมชาติ ที่ไม่ให้พลังงานและไขมัน ไม่เกิดการสะสมในร่างกายผู้บริโภค รวมทั้งไม่เกิดการดูดซึมในระบบการย่อยยังทำให้เกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่ต้องการลดน้ำหนักและที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้อีกด้วย

สารให้ความหวานในหญ้าหวานสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียสทนต่อสภาวะความเป็นกรด-เบส ในช่วง 3 – 9 ให้ความหวานคงตัวตลอดกระบวนการผลิต ป้องกันการหมักทำให้ไม่เกิดการเน่าบูด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอความแก่แล้วยังจัดเป็นโภชนาการบำบัดที่ดี เนื่องจากไม่มีความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังต่อสัตว์ทดลอง ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งทางระบาดวิทยายังไม่เคยมีรายงานการป่วยหรือปัญหาต่อสุขภาพ ที่เกิดจากการบริโภคหญ้าหวานเป็นประจำแต่อย่างใด

การแปรรูปสมุนไพรหญ้าหวาน

โดยทั่วไปนิยมบริโภคหญ้าหวาน 5 รูปแบบ ได้แก่ แบบใบอบแห้ง หรือใบแห้งบดสำหรับชงแบบสำเร็จรูป (ชาหญ้าหวาน), แบบใบสด, แบบใบแห้งบดสำหรับใช้แทนน้ำตาล(หญ้าหวานผง), แบบสารสกัดจากใบแห้งด้วยน้ำ นิยมนำมาชงเป็นชาดื่ม และแบบการนำมาต้มและเคี่ยว

การทำหญ้าหวานแห้ง

การทำหญ้าหวานแห้ง

ตัดใบหญ้าหวานสดนำมาล้างทำความสะอาด ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง ภายในโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเวลา 8 ชั่วโมง จะมีความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 2 – 5 %แต่วิธีนี้จะทำให้ได้ผลผลิตหญ้าหวานแห้งที่มีสีเขียวคล้ำส่วนการทำแห้งโดยนำมาอบในตู้อบไฟฟ้าหรือแก๊ส ที่อุณหภูมิประมาณ 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 ชั่วโมง จะมีความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 5 – 10 %

ซึ่งหญ้าหวานที่อบด้วยตู้อบลมร้อนจะให้สีของผลผลิตหญ้าหวานแห้งมีสีเขียวธรรมชาติและไม่เกิดสีคล้ำเป็นวิธีการที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตแห้งได้ โดยหญ้าหวานสด 3 กิโลกรัม จะได้หญ้าหวานแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม

การสกัดผงให้ความหวานจากหญ้าหวาน การคัดเลือกใบหญ้าหวานแห้ง จะคัดเลือกจากสภาพความชื้นของหญ้าหวาน ถ้ามีความชื้นมากกว่า 10% จะไม่นำมาสกัด เพราะการสกัดหญ้าหวานที่ได้ผลดีจะต้องใช้หญ้าหวานที่มีความชื้นต่ำ

การสกัดสารให้ความหวานเป็นชนิดผง หากใช้หญ้าหวานแห้งน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม จะสกัดผงสารให้ความหวานประมาณ 100 กิโลกรัม หากใบหญ้าหวานมีความชื้นสูงจะได้ผงสารให้ความหวานน้อยลง

ขั้นตอนสกัดผงหญ้าหวาน

การสกัดสารให้ความหวานจากใบหญ้าหวาน สามารถสกัดได้ด้วยน้ำหรือใช้ตัวทำละลาย ได้แก่ เมทานอลหรือเอทานอล ซึ่งอาจใช้น้ำอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกันก็ได้ วิธีเหล่านี้มีความสะดวก ง่าย และไม่มีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ มีขั้นตอนดังนี้

1. นำใบหญ้าหวานที่แห้งความชื้นไม่เกิน 10% มาหั่นให้ละเอียด (ไม่ต้องบดเป็นผง) พร้อมกับผสมน้ำลงไปด้วย อัตราส่วน 1:10 คือ หญ้าหวานแห้ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำประมาณ 10 กิโลกรัม จากนั้น นำไปต้มโดยใช้ไฟปานกลางที่อุณหภูมิประมาณ 65 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการต้มนาน 10 ชั่วโมง หลังจากนั้นหยุดต้มให้ปล่อยทิ้งไว้อีก 10 ชั่วโมง ซึ่งหลังทิ้งไว้น้ำต้มจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งนี้ การต้มใบหญ้าหวานแห้งในน้ำร้อน (Heating) จะทำให้สารให้ความหวานหรือสติวิโอไซด์ละลายออกมาเป็นสารละลาย

2. นำน้ำต้มใบหญ้าหวานไปกำจัดสีดำออกด้วยระบบแยกสารอินทรีย์ (Electolysis) จนได้น้ำต้มที่มีลักษณะใสจากนั้นเติมสารเบต้าไซโคลเด็กซ์ตริน (β-Cyclodextrin)เพื่อช่วยในตกตะกอนของกากใบหญ้าหวาน ทำให้ได้น้ำต้มหญ้าหวานที่ใสมากขึ้น

3. นำน้ำต้มเข้าสู่กระบวนการทำให้เข้มข้น (Concentrate) และทำบริสุทธิ์ (Pre-Purifsy) โดยนำน้ำต้มไปให้ความร้อน เพื่อระเหยน้ำหรือตัวทำละลายออก ที่อุณหภูมิประมาณ 45 องศาเซลเซียส ความดัน 70 มิลลิบาร์ (mbar) จนได้สารให้ความหวานที่อยู่ในรูปไซรัป (สารให้ความหวานที่เข้มข้นและหนืด) จากนั้น นำไปวิเคราะห์ค่าความหวานด้วยเครื่อง Brix Refractometer อ่านค่าเป็นองศาบริกซ์ (°Brix) ของรสหวานจากไซรัป ซึ่งควรมีค่าประมาณ 30 °Brix

4. นำไซรัปไปทำให้แห้งด้วยเครื่องอบทำผงแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dryer) ซึ่งจะได้ผงสีขาวละเอียดออกมา โดยจะมีความบริสุทธิ์ของสารให้ความหวานประมาณ 93% และมีความชื้นเล็กน้อย 2 – 5 % จากนั้น นำผงสารให้ความหวานไปทดสอบคุณภาพ ก่อนบรรจุในถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม เพื่อเตรียมส่งลูกค้าต่อไป

ถึงแม้ว่าสาร stevioside จะไม่ตกค้างในร่างกายก็ตามการบริโภคใบหญ้าหวานหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้เป็นจำนวนมากอาจก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นควรบริโภคหญ้าหวานในปริมาณที่เหมาะสมเสมอ สำหรับปริมาณสารปรุงรสหวานในหญ้าหวานที่เหมาะสมในการบริโภคต่อวัน ได้แก่ 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเป็นกิโลกรัมของผู้บริโภค 

หญ้าหวานจัดเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสารปรุงรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีปัญหาของโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้สารให้ความหวานจากหญ้าหวานยังใช้ทดแทนน้ำตาลเทียมที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่มักมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารในต่างประเทศที่ต้องการสารสกัดที่ได้ จากหญ้าหวานทดแทนน้ำตาลในการผลิตเป็นจำนวนมาก

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “การผลิตหญ้าหวาน” ได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0 2579 0583 และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ เลขที่ 313 หมู่ 12 ต. หนองควาย อ. หางดง จ. เชียงใหม่ โทรศัพท์ 0 5311 4133 - 6

อ้างอิง: สุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

มวนนักกล้าม แมลงศัตรูพืชตระกูลถั่ว ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วฝักยาว?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นลัดดาวัลย์ (ลดาวัลย์) ชอบแดดไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก การขยายพันธุ์ ราคาถูก?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นกระถินณรงค์ แตกต่าง กระถินเทพา ลักษณะ ข้อดี ประโยชน์ วิธีปลูก ขยายพันธุ์?

อิมิดาโคลพริด imidacloprid คืออะไร อันตรายไหม? ประโยชน์ ออกฤทธิ์ วิธีใช้ ราคา?

ต้นมั่งมี (เฉียงพร้านางแอ) มั่งมีศรีสุข ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

แคคตัส ดาวล้อมเดือน อิชินอปซิส Echinopsis calochlora ลักษณะเด่น วิธีปลูก ดูแล?