ผักคะนองม้า(เต่าเกียด) ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน กินได้ เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ลาบ?
ผักคะนองม้า (Guyanese arrowhead)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
ผักคะนองม้า ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Sagittaria guayanensis subsp. lappula (D.Don) Bogin จัดเป็นพืชในสกุล Sagittaria อยู่ในวงศ์ Alismataceae ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มสมุนไพร
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Alisma cristatum Wall.
- Alisma hamiltonianum Wall.
- Alisma lappula Buch.-Ham. ex Kunth
- Lophiocarpus cordifolius Miq.
- Lophiocarpus lappula (D.Don) Miq.
- Lophotocarpus formosanus Hayata
- Sagittaria blumei Kunth
- Sagittaria cordifolia Roxb.
- Sagittaria lappula D.Don
- Sagittaria obtusissima Hassk.
- Sagittaria pusilla Blume
- Sagittaria triflora Noronha
ต้นผักคะนองม้า ในประเทศไทยพบขึ้นในน้ำตามขอบบึง หรือทุ่งนา ที่มีน้ำนิ่งหรือไหลเอื่อย และมีระดับความลึกไม่เกิน 50 ซม. ในที่โล่งแจ้งที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า เต่าเกียด (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นเต่าเกียด ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า เต่าเกียด (ปทุมธานี), ผักคางไก่ (แม่ฮ่องสอน), ผักคะนองม้า ผักเล็บม้า (หนองคาย, นครพนม), ผักผ่อง (อ.ศรีเชียงใหม่ หนองคาย) และมีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า Guyanese arrowhead
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของผักคะนองม้า พบพบทั่วประเทศไทย และเขตร้อน-กึ่งเขตร้อนในทวีปแอฟริกาและเอเชีย
ผักคะนองม้า ออกดอกเดือนไหน
ต้นผักคะนองม้า ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน และผลแก่ช่วงมิถุนายนธันวาคม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักคะนองม้า
- ลักษณะวิสัย: ไม้น้ำล้มลุก มีอายุหลายปี
- ลำต้น: มีลำต้นเป็นเหง้าสั้นอยู่ใต้ดินท้องน้ำ (ลักษณะทั่วไปคล้าย บัวสาย Nymphaea pubescens)
- ใบ: ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุก ชูใบขึ้นมาลอยที่ผิวน้ำ ใบรูปกลมแกมรูปหัวใจ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-10 ซม. ปลายใบกลม โคนใบหยักเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจแกมเงี่ยงลูกศร ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนสีเขียว เกลี้ยงเป็นมันเงา ด้านล่างมีขนสั้นหรือเกลี้ยง เส้นแขนงใบออกจากโคนข้างละ4-5 เส้น เนื้อใบหนามองเห็นเส้นใบย่อยไม่ชัด ก้านใบยาวถึง 40 ซม. เป็นสามเหลี่ยม สีขนสั้นหรือเกลี้ยง โคนก้านมีกาบ
- ดอก: ช่อดอกออกเป็นกระจุก 1-6 ชั้น แต่ละชั้นมี 2-3 ดอก ชู่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกสีขาว รูปไข่กว้างกลับ ยาว 8-10 มม. เกสรเพศผู้สีเหลือง มี 6 หรือมากกว่า
- ผล: ผลสีเขียว ทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.8 ซม. มีผลย่อยอัดกันแน่นจำนวนมากและมีกลีบเลี้ยงติดคงทน จมลงอยู่ใต้น้ำ
- เมล็ด: เมล็ดมีจำนวนมากและขนาดเล็ก กว้างประมาณ 1.5-2 มม.
ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ของผักคะนองม้า สามารถนำมาเป็นอาหาร โดยใช้ยอดอ่อน เป็นผักสดกินแกล้มลาบ ซุบ ปิ้งปลา หรือจิ้มน้ำพริก