✓ต้นไม้: พลูคาว, ผักคาวตอง ประโยชน์ สรรพคุณ ต้านโควิด-19?

พลูคาว มีสรรพคุณในตำรับยาสมุนไพรแผนโบราณในประเทศต่าง ๆ จึงนิยมใช้เพื่อรักษาโรค และยังถูกใช้เป็นอาหารและเครื่องสำอาง ในประเทศจีนเลือกใช้สมุนไพรพลูคาว มาใช้ในการป้องกันรักษา โรคโควิด-19 ซึ่งจะสามารถช่วยลดไข้ ไอ เสมหะ เหนื่อย และอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยได้

สมุนไพรพลูคาว และการผลิตต้นกล้าปลอดโรค

พลูคาว (Houttuynia cordata Thunb) จัดอยู่ในวงศ์ Saururaceae มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นแตกต่างกันไป ได้แก่ ผักก้านตอง ผักคาวตอง ผักคาวปลา ผักเข้าตอง ผักคาวทอง ฮื่อชอเช่า หรือหื้อแชเช่า เป็นต้น

ต้นไม้: พลูคาว (ผักคาวตอง) ประโยชน์ สรรพคุณ ต้านโควิด19

พลูคาว มีลักษณะเป็นพืชล้มลุก มีอายุอยู่ได้หลายปี มีกลิ่นคล้ายคาวปลา ลำต้นสูงประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร มีลักษณะกลม สีเขียวหรือแดง ใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายรูปหัวใจ เป็นพืชที่ต้องการร่มเงา มักเจริญเติบโตได้ในสภาพที่มีความชื้นสูงและเป็นบริเวณที่ได้รับแสงแดดไม่มากนัก สามารถเจริญเติบโตได้ในดินร่วนจนถึงดินทราย

รายละเอียดเพิ่มเติม

สมุนไพรพลูคาวสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการแยกหน่อ และการปักชำ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตยา เครื่องสำอาง รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ อาหารเสริมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพให้ความสนใจ จึงถือเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเช่นกัน

ฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพรพลูคาว

พลูคาวมีสรรพคุณในตำรับยาสมุนไพรแผนโบราณในประเทศต่าง ๆ จึงนิยมใช้เพื่อรักษาโรค ได้แก่

  • ประเทศจีน มีการใช้สมุนไพรพลูคาวในการรักษาโรคกลากเกลื้อน โรคไข้มาลาเรีย โรคลมแดด ปอดอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น
  • ประเทศญี่ปุ่น มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อเป็นยาขับปัสสาวะ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยับยั้ง การติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกกลุ่มที่สร้างสปอร์ เป็นต้น
  • ประเทศเกาหลี มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อรักษาอาการไอ สิว กลากเกลื้อน เริม ตกขาว มดลูกอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น
  • ประเทศอินเดีย มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อรักษาอาการอ่อนเพลีย ช่วยให้สดชื่น ช่วยให้หลับสบาย รักษาอาการโรคหัวใจ เป็นต้น
  • ประเทศไทย มีการใช้สมุนไพรพลูคาวเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นสารต้านมะเร็ง รักษาภูมิแพ้ เบาหวาน ใช้เป็นยาต้านการอักเสบ เป็นต้น

นอกจากการใช้เป็นยาแล้ว สมุนไพรพลูคาวยังถูกใช้เป็นอาหารและเครื่องสำอาง ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีมักจะใช้สมุนไพรพลูคาวร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เพื่อเป็นเครื่องสำอางสำหรับการป้องกันหรือรักษาริ้วรอย ปรับปรุงสภาพผิว และกำจัดฝ้า

นอกจากนี้พบว่ามีการใช้สารสกัดพลูคาวหมักกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆเพื่อรักษาโรคผิวหนัง เนื่องจากสามารถช่วยลดการอักเสบ ลดอาการคัน และให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้สารสกัดพลูคาวเป็นส่วนผสมในแชมพูเพื่อการบำรุงเส้นผม และป้องกันปัญหารังแค และยังมีการใช้เป็นส่วนผสมในครีมมาส์กนวดหน้าเพื่อรักษารอยแผลเป็นที่เกิดจากสิว เกลื้อน กระ และฝ้า

พลูคาว สรรพคุณ ต้านโควิด-19

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศการอุบัติใหม่ของโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจขั้นรุนแรง โดยมีชื่อเป็นทางการว่า“โควิด-19” (Covid-19) ซึ่งเมื่อตรวจสอบสายวิวัฒนาการพบว่าไวรัสโคโรนา 2019 และเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือโรคซาร์ส (SARS-CoV) มีลำดับนิวคลีโอไทด์คล้ายคลึงกันถึง 89.1%

และมีโมเลกุลเป้าหมาย ที่ใช้สำหรับพัฒนายารักษาโรคถึง 95% ตัวอย่างเช่น angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) ที่มีบทบาทในการนำเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าสู่เซลล์ พบว่ามีความคล้ายคลึงกับที่พบในไวรัสโคโรนาทำให้เกิดโรคซาร์ส ดังนั้นการยับยั้งการทำงานของ ACE2 อาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้

ซึ่งจากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า พลูคาวสามารถลดการเกิดอาการต่าง ๆ ที่พบในโรคซาร์ส เช่น ฝีในปอดเมือกในปอด ปอดบวม เป็นต้น โดยผลจากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสารสกัดของพลูคาวมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้มีการเพิ่มจำนวนของเซลล์ CD4+ และ CD8+ ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์

นอกจากนี้พบว่าสารสกัดน้ำจากพลูคาว สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ SARS-CoV 3CLPro ที่เป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ดังนั้นพลูคาวจึงเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ประเทศจีนเลือกมาใช้ในการป้องกันรักษา โรคโควิด-19 ซึ่งจะสามารถช่วยลดไข้ ไอ เสมหะ เหนื่อย และอาการหายใจลำบากในผู้ป่วยได้

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรพลูคาว

ปัจจุบันสมุนไพรพลูคาวถูกนำมาแปรรูปเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในยารักษาโรค เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องดื่ม เนื่องจากพลูคาวมีสารพฤกษเคมี ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ สเตอรอล แอลคาลอยด์ กรดอินทรีย์ กรดไขมัน น้ำมันหอมระเหย และกรดอะมิโน อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าปริมาณสารพฤกษเคมีหรือสารสำคัญในพืชมักแปรผันตามสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่เพาะปลูก

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรพลูคาว

นอกจากนี้ปัญหาที่สำคัญในภาคการผลิตที่ส่งผลต่อการพัฒนาสมุนไพรไทยคือ ผู้ผลิตพืชสมุนไพรส่วนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตยังมีคุณภาพไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพรพลูคาวให้เป็นที่ยอมรับ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทย สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

การประยุกต์ใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นทางเลือกหนึ่งในการผลิตพืชและสารสำคัญจากพืช ซึ่งจะทำให้การผลิตสารสำคัญสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนการผลิตสารจากการเพาะปลูกพืชตามธรรมชาติ

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมุนไพรพลูคาว

สามารถทำโดยคัดเลือกต้นพลูคาวที่มีความสมบูรณ์ปราศจากโรคและศัตรูพืชที่มีอายุ 6 เดือน จากนั้นทำการตัดชิ้นส่วนบริเวณปลายยอดและข้อออกมาจากกระถางเพาะเลี้ยง แล้วนำชิ้นส่วนพืชที่ตัดได้มาล้างด้วยน้ำสะอาด 2 ครั้ง ตัดใบส่วนเกินออก แล้วนำมาล้างทำความสะอาด เอาเศษดินที่ติดมาออกด้วยน้ำยาล้างจานจำนวน 1 ครั้ง และล้างน้ำไหลผ่าน เป็นเวลา 15 นาที จากนั้นนำชิ้นส่วนพืชมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ

ทำความสะอาดชิ้นส่วนข้อและยอดพลูคาว โดยฟอกฆ่าเชื้อชิ้นส่วนพืชด้วยแอลกอฮอล์ 95% เป็นเวลา 1 นาที จากนั้นนำไปฟอกฆ่าเชื้อต่อด้วยสารฟอกฆ่าเชื้อหรือไฮเตอร์ 15% เป็นเวลา 15 นาที และไฮเตอร์ 5% เป็นเวลา 5 นาที

เมื่อครบตามเวลาที่กำหนดนำชิ้นส่วนไปล้างด้วยน้ำที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที ตัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่ตายออก แล้วตัดชิ้นส่วนข้อให้ได้ความยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร จากนั้นนำไปเลี้ยงบนอาหารสูตร MS ที่ปราศจากสารควบคุมการเจริญเติบโตเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

จากนั้นทำการชักนำต้นพลูคาวให้เกิดยอดจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ในขยายพันธุ์พืชปลอดเชื้อให้ได้ปริมาณมากอย่างรวดเร็ว โดยนำต้นพลูคาวที่อยู่ในสภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อบนอาหารสูตร MS อายุประมาณ 2 เดือน มาเพาะเลี้ยงบนอาหารแข็งสูตร MS ที่เติมน้ำตาลซูโครส 30 กรัมต่อลิตร ผงวุ้น 2.5 กรัมต่อลิตร และสารควบคุมการเจริญเติบโตชนิด BA ที่ระดับความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยทำการเพาะเลี้ยงในสภาพที่มีแสง 16 ชั่วโมงต่อวัน ที่อุณหภูมิ 25±2 องศาเซลเซียส

จากนั้นย้ายต้นกล้าไปปลูกในโรงเรือนเพาะชำโดยปลูกในกระถางขนาด 8 นิ้ว วัสดุปลูก ได้แก่ ดินแกลบ กาบมะพร้าว อัตราส่วน 1:1:1 ทำการควบคุม ความชื้นสัมพัทธ์เพื่อลดการสูญเสียน้ำโดยอนุบาลในกระถางที่คลุมด้วยพลาสติก เป็นเวลา 2 - 3 วัน รดน้ำ วันละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ทำการควบคุมความเข้มแสง โดยอาจใช้ตาข่ายพรางแสงที่มีเปอร์เซ็นต์การพรางแสงสูงในช่วง 3 - 4 วันแรก เพื่อลดการสังเคราะห์แสงและลดการเปิดปิดของปากใบที่ทำให้เกิดการคายน้ำในต้นกล้า จากนั้นจึงลดเปอร์เซ็นต์การพรางแสงลงตามความเหมาะสม เพื่อให้ต้นอ่อนพลูคาวได้รับแสงมากขึ้น หลังจากการปรับสภาพพืชเป็นระยะเวลา 1 - 3 สัปดาห์แล้วจึงย้ายไปยังระบบปลูกต่อไป

การเพาะเลี้ยงพลูคาว ในระบบไฮโดรโปนิกส์

ปัญหาสำคัญที่มีผลต่อมูลค่าของผลผลิตสมุนไพรพลูคาว คือการรบกวนของโรค ซึ่งโรคที่สำคัญ ที่พบในพลูคาว คือโรคใบจุดและโรคต้นกล้าแห้งจากเชื้อรา (Sclerotium rolfsii) โดยการสะสมของโรคในต้นพันธุ์พลูคาว ทำให้พืชมีความอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคอื่น ๆ และทำให้ได้ผลผลิตน้อย จึงเป็นเหตุให้การผลิตพลูคาวมีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีการปนเปื้อนของสารเคมีจากการป้องกันกำจัดโรค

ปัจจุบันทางสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพกรมวิชาการเกษตร ได้ทดสอบปลูกต้นพลูคาวปลอดเชื้อในระบบที่ไม่ใช้ดินหรือระบบไฮโดรโปนิกส์ พบว่าการปลูกพืชในระบบนี้จะทำให้สามารถจัดการปัจจัยต่าง ๆ เช่น น้ำ แสง ธาตุอาหาร และอุณหภูมิ ให้แก่พืชได้อย่างเหมาะสม

ต้นพลูคาวสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วอย่างมีคุณภาพปราศจากโรค ทำให้สามารถผลิตพลูคาวได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งยังทำให้การใช้น้ำและใช้ปุ๋ยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งควบคุมคุณภาพมาตรฐานในการผลิตสมุนไพรพลูคาวในเชิงพาณิชย์ต่อไป

หากสนใจข้อมูลเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพสมุนไพรพลูคาว” หรือต้องการต้นพลูคาวปลอดโรค สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพกรมวิชาการเกษตร

อ้างอิง: วรารัตน์ ศรีประพัฒน์; น.ส.พ. กสิกร กรมวิชาการเกษตร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นลัดดาวัลย์ (ลดาวัลย์) ชอบแดดไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก การขยายพันธุ์ ราคาถูก?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

สตาร์เกิลจี วิธีใช้ยังไง ช่วยอะไร อันตรายไหม ซื้อที่ไหน ราคาถูก

มวนนักกล้าม แมลงศัตรูพืชตระกูลถั่ว ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วฝักยาว?

ต้นพุดสี (พุดสีดา, พุดป่า, พุดสีดาดง) แตกต่างจาก พุดน้ำบุศย์ ลักษณะ ดอกหอมแรง?

✓ต้นไม้: 'ไคร้น้ำ' ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางยา สมุนไพร?

✓ต้นไม้: ปลูกต้นไม้ดอกหอม ปลูกทิศไหนดี? ส่งกลิ่นหอมโชย?