✓ต้นไม้: 'ไคร้น้ำ' ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางยา สมุนไพร?
ไคร้น้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
ไคร้น้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Homonoia riparia Lour. อยู่ในสกุล Homonoia (พืชสกุลนี้ทั่วโลกพบ 3 ชนิด ในไทยพบเพียงชนิดเดียว) จัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ไคร้น้ำ เป็นพันธุ์พืชที่เราจัดไว้ในกลุ่มพืชสมุนไพร
ชื่อสกุล Homonoia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า homos แปลว่า คล้องจองกัน หรือเป็นหนึ่งเดียวกัน และคำว่า nous แปลว่า จิตใจ ความหมายก็คือ“ลักษณะเกสรเพศผู้จำนวนมากที่เรียงแยกแขนงไปมาสอดคล้องกัน
ชื่อพ้อง (Synonyms)
Photo by Natureman Thaimountain
- Adelia neriifolia B.Heyne ex Roth
- Croton salicifolius Geiseler
- Haematospermum neriifolium (B.Heyne ex Roth) Wall. ex Voigt
- Haematospermum salicinum (Hassk.) Baill.
- Lumanaja juviatilis Blanco
- Ricinus salicinus Hassk.
- Spathiostemon salicinus (Hassk.) Hassk.
ชื่อไทย
ชื่อทางการของพืชชนิดนี้ (อ้างอิงจาก ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557) มีชื่อไทยว่า ไคร้น้ำ และมีชื่ออื่น (ชื่อพื้นเมือง, ชื่อท้องถิ่น) ว่า ไคร้(ภาคเหนือ , ภาคกลาง) ; สี่ทีโค , เหี่ยที้(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; กะละแร(กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ; ไคร้หิน(ชุมพร) ; แร่(ตรัง) ; แกลแร(มลายู-นราธิวาส) ; กะแลแร(มลายู-ยะลา)
มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Willow-leaved Water Croton
ถิ่นอาศัย
ต้นไคร้น้ำ ในประเทศไทย พบขึ้นเป็นดงตามโขดหินริมลำห้วยลำธาร แม่น้ำ และชายฝั่งทะเลที่น้ำท่วมถึง ทั่วทุกภาค (ไม่พบในลำธารที่ท้องน้ำเป็นดินตะกอนในเขตที่ราบ)
การแพร่กระจายพันธุ์ไคร้น้ำ
ต้นไคร้น้ำ แพร่กระจายใน อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ศรีลังกา บังกลาเทศ หมู่เกาะอันดามัน จีน ไต้หวัน เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน(ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกินี
Photo by Forest Botany Division (BKF)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของไคร้น้ำ
- ลักษณะวิสัย: ไม้พุ่มทนน้ำท่วม ตั้งตรงสูง 1.5-4 เมตร หรือสูงได้ถึง 7 เมตร
- ลำต้น: แตกกิ่งหนาแน่น
- ใบ: ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนรอบลำต้น หรือเป็นเกลียว รูปใบหอก หรือรูปแถบ
- ดอก: ออกดอกเป็นช่อเชิงลดห้อยลงตามซอกใบ มีดอกย่อยขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ดอกแยกเพศและมักอยู่ต่างต้นกัน ไม่มีกลีบดอก คงมีแต่กลีบเลี้ยงสีแดงอมม่วง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อเรียวยาวราว 3-14 ซม. ขนาดดอก 0.5 ซม. กลีบเลี้ยง3กลีบ รูปรี รูปไข่ หรือรูปกลม ส่วนดอกเพศเมียออกเป็นช่อกระจุกยาว 3-4 ซม. ขนาดดอก 0.2 ซม. มีกลีบเลี้ยง 5-8 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน รูปไข่ หรือรูปขอบ ออกดอกในราวเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนเมษายน
- ผล: ผลรูปกลม ขนาด 0.3-0.8 ซม. มี3พู และมีขนสั้นนุ่มปกคลุม ผลแห้งแตกออกเป็น3ซีก
ประโยชน์ สรรพคุณทางยา สมุนไพร
- เนื้อไม้ : ใช้เข้ายา (ต้ม) แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ราก : ตำเอาน้ำทาเป็นยาห้ามเลือด, ต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด และเป็นยาสมานท้อง;
- เปลือก : เป็นยาสมานแผล ยาสมานท้อง, ฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาฝาดสมานแผลภายใน แก้น้ำเหลืองเสีย;
- ยางจากลำต้น : ใช้สมานแผล แก้บิด ปิดธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย และฝีในท้อง;
- แก่น : ใช้แก้กระษัย แก้เลือดลม;
- ใบ : ตำพอกหรือทา หรือต้มน้ำอาบแก้บาดแผลพุพองตามร่างกายของเด็ก
- กิ่งหรือลำต้น : แก้ปวดฟัน
- ใบ : แก้ไข้ตัวร้อน ที่มีอาการนอนกระสับกระส่าย ช่วยถอนพิษไข้
- ตำรับ ยาขับนิ่วในไต-ทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับนิ่วในไต และทางเดินปัสสาวะ ช่วยล้างไต รักษาทางเดินปัสสาวะอักเสบ.
อ้างอิง: Natureman Thaimountain, Forest Botany Division (BKF), Plants of the World Online (POWO)