✓วิธีการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย จากฟางข้าว แบบบ้านๆ ไว้กินเอง?
การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย เป็นรูปแบบการเพาะที่ง่าย ใช้วัสดุน้อย สามารถใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเป็นวัสดุเพาะได้ เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว กากถั่วเหลือง กากมันสำปะหลัง
วิธีการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย
การเตรียมการ ก่อนเพาะเห็ด
1) นำวัสดุเพาะ ได้แก่ ฟางข้าว แช่น้ำ 1-2 วัน ส่วนทะลายปาล์ม รดน้ำ ให้เปียก วันละ 1 ครั้ง หรือแช่น้ำไว้และคลุมพลาสติกสีดำให้มิดชิดทำอย่างนี้ 4 วัน อาหารเสริมทุกชนิด ได้แก่ ไส้ฝ้าย ไส้นุ่น ผักตบชวาสับตากแห้ง แช่น้ำให้นาน 1-2 ชั่วโมง ส่วนอาหารเสริมที่ได้จากมูลสัตว์ ได้แก่ มูลไก่ มูลวัว หรือ มูลม้า ผสมดินร่วนในอัตราส่วน 2 : 1 ไม่ต้องแช่น้ำ
2) ขุดดินตากแดด 1 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรค ย่อยดินให้ร่วนละเอียด จะช่วยให้ผลผลิตเห็ดฟางเพิ่มขึ้น 10-20% เนื่องจากเห็ดฟางจะเกิดรอบๆ กองวัสดุเพาะ ปรับดินให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม วางแบบพิมพ์ลงบนดิน แบบพิมพ์ทำจากไม้มีลักษณะ เป็นสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านบนกว้าง 30 เซนติเมตร ด้านล่างกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 80-120 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร
วิธีการเพาะเห็ดฟาง แบบบ้านๆ
1) วัสดุที่ใช้เพาะ
- หากเพาะด้วยฟางข้าว ให้ใส่ฟางลงไปในแบบพิมพ์ให้หนา 8-12 เซนติเมตร ใช้มือกดให้แน่น หรืออาจจะ 1-2 รอบ ใส่อาหารเสริมบริเวณขอบ โดยรอบ กว้าง 5-7 เซนติเมตร หนา 2.5 เซนติเมตร
- หากเป็นทะลายปาล์มต้องเทขี้เลื่อยลงไปในแบบพิมพ์ เกลี่ยให้ เรียบก่อนนำทะลายปาล์มที่แช่น้ำแล้ววางให้เต็ม และรดน้ำให้ชุ่ม แล้วโรยเชื้อ ไม่ต้องใส่อาหารเสริม
2) โรยเชื้อเห็ดโดยรอบบนอาหารเสริม เชื้อเห็ดที่ใช้ควรให้แตก ออกจากกันเสียก่อนเป็นอันเสร็จชั้นที่ 1 เมื่อเสร็จแล้วก็ทำชั้นต่อไปโดยทำเช่นเดียว กับการทำชั้นแรกคือ ใส่ฟางลงในแบบไม้อัดหนา 8-12 เซนติเมตรกดให้แน่น ใส่อาหารเสริม ในช่วงฤดูหนาวหรืออุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ควรทำ 4-5 ชั้น หรือสูง 35-40 เซนติเมตร ในฤดูร้อนควรทำ 3 ชั้น หรือสูง 28-30 เซนติเมตร หากเพาะด้วยทะลายปาล์มสามารถโรยเชื้อเห็ดฟางบนทะลายปาล์มได้เลย
3) เมื่อทำกองเสร็จแล้ว ชั้นสุดท้ายคลุมฟางหนา 2-3 เซนติเมตร รดน้ำ บนกองให้โชกอีกครั้ง ถอดแบบพิมพ์ เพื่อนำไปใช้เพาะกองต่อไป
4) เมื่อโรยเชื้อเสร็จแล้ว ใช้เชื้อเห็ดฟาง ผสมกับอาหารเสริมโรยรอบกอง จะทำให้ดอกเห็ด เกิดระหว่างกอง เป็นการเพิ่มปริมาณดอกเห็ด การเพาะ เห็ดฟางแบบกองเตี้ยมักจะทำกองห่างกันประมาณ 1 คืบ ขนานกันไป 10-20 กอง เพื่อทำให้อุณหภูมิและ ความชื้นของกองไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนัก
5) คลุมด้วยผ้าพลาสติกใสหรือทึบ โดยคลุมทั้งหมดด้วยผ้าพลาสติก 2 ผืน โดยให้ขอบด้านหนึ่งทับกันบริเวณหลังกอง จากนั้นใช้ฟางแห้งคลุมทับพลาสติกอีกที หรืออาจทำแผงจากปิด ไม่ให้แสงแดดส่องถึง ก่อนการคลุมด้วยพลาสติกอาจทำ โครงไม้เหนือกองเพื่อไม่ให้พลาสติกติดหลังกอง แล้วปิดด้วยฟางหลวม ๆ ก่อน
การดูแลรักษาเห็ดฟาง
ในฤดูร้อน 3 วันแรก ช่วงกลางวันถึงเย็น ควรเปิดผ้าพลาสติกหลังกองกว้าง ประมาณ 1 ฝ่ามือ ส่วนกลางคืนปิดและคลุมฟางไว้เหมือนเดิม วันที่ 1-3 วัน เห็ดฟาง ต้องการอุณหภูมิประมาณ 35-38 องศาเซลเซียส ในวันที่ 4-5 ให้ตรวจดูความชื้น ถ้าเห็นว่าข้างและหลังกองแห้ง ให้ใช้บัวรดน้ำโชยน้ำเบา ๆ ให้ชื้นแล้วปิดไว้อย่างเดิม เห็ดฟางต้องการอุณหภูมิต่ำกว่าวันแรก ๆ จนกระทั่งวันที่ 8-10 ช่วงเก็บผลผลิตได้ เห็ดฟางต้องการอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส