หนอนเจาะสมอฝ้าย รูปร่างลักษณะ วงจรชีวิต วิธีกำจัดและการป้องกัน ศัตรูธรรมชาติ?
หนอนเจาะสมอฝ้าย (cotton ballworm) ชื่อวิทยาศาสตร์ Helicoverpa armigera (Hubner) วงศ์ Noctuidae อันดับ Lepidoptera หนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นแมลงศัตรูสําคัญของมะเขือเทศ และยังเป็นศัตรูสําคัญของพืชผักไม้ผล ไม้ดอก และพืชไร่หลายชนิด
หนอนเจาะสมอฝ้าย (cotton ballworm)
- ชื่อวิทยาศาสตร์ Helicoverpa armigera (Hubner)
- วงศ์ Noctuidae
- อันดับ Lepidoptera
- ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ: Cotton ballworm
ความสําคัญและลักษณะการทําลาย
Photo by Gilles San Martin
หนอนชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกฝ้าย โดยหนอนเจาะสมอฝ้ายเริ่มเข้าระบาดทําความเสียหายในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2508 และพบระบาดติดต่อกันทุกปีเกษตรกร มีปัญหาในการป้องกันกําจัด
เนื่องจากหนอนเจาะสมอฝ้ายได้พัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารกำจัดแมลงได้รวดเร็วและหลายชนิด หนอนชนิดนี้ทําลายพืชผักโดยการกัดกินส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ดอก ใบ เจาะกัดกินภายในลําต้น ฝัก และหน่อ สําหรับในพืชผักบางชนิดที่ผลิตเพื่อการส่งออก เช่น หน่อไม้ฝรั่งและกระเจี๊ยบเขียว แม้ถูกทําลายเพียงเล็กน้อยจะทําให้ผลผลิตเสียคุณภาพในการส่งออก
เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพดังกล่าว เกษตรกรจึงมีการพ่นสารกำจัดแมลงเป็นประจําและบ่อยครั้ง บางครั้งไม่ถูกวิธีทําให้ผลผลิตนอกจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้วยังเพิ่มต้นทุนการผลิตและพบพิษตกค้างในผลผลิตอีกด้วย
รูปร่างลักษณะและวงจรชีวิต
ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ตามส่วนอ่อนของพืช เช่น ใบ ก้านใบ ไข่มีลักษณะกลมคล้ายฝาชีไข่ที่วางใหม่ๆ จะมีสีขาวนวลเป็นมัน ระยะไข่ 2-3 วัน จึงฟักออกเป็นตัวหนอน
หนอนมีด้วยกันทั้งหมด 5 วัย โดยวัยแรกจะมีสีขาวนวล เมื่อเข้าสู่วัยสองสีของลําตัวเข้มขึ้นเป็นดําปนเขียว หนอนวัยที่สามลําตัวมีสีน้ำตาลปนเขียว เมื่อเข้าสู่วัยที่สี่ลําตัวจะมีสีเข้มขึ้นเป็นดําปนเขียว หนอนวัยที่ห้าลําตัวจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแก่
หนอนโตเต็มที่มีขนาด 3.5 ซม. ระยะหนอนประมาณ 16-22 วัน ดักแด้มีสีน้ำตาลไหม้ขนาด 1.8 ซม. อายุดักแด้ประมาณ 10-12 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืน วัดเมื่อกางปีกยาว 3-4 ซม. ตัวเมียปีกคู่หน้าสีน้ำตาลปนแดง ส่วนตัวผู้สีน้ำตาลอมเขียว เลยกึ่งกลางปีกคู่หน้าไปทางหน้าเล็กน้อย มีจุดสีน้ำตาลเข้มขนาดโตกว่าหัวเข็มหมุดปีกละจุด ถัดจากจุดนี้ไปทางปลายปีกเล็กน้อยมีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดตามขวาง และมีจุดสีดําเรียงรายตามแถบนี้ปีกคู่หลังมีแถบสีน้ำตาลที่ปลายปีกพาดต่อกับปีกคู่หน้า สีของปีกคู่หน้าเข้มกว่าปีกคู่หลัง
อายุตัวเต็มวัยประมาณ 7-18 วัน รวมวงจรชีวิตประมาณ 29-38 วัน ศัตรูธรรมชาติที่สําคัญที่พบทําลายหนอนเจาะสมอฝ้ายได้แก่ โรคทําลายแมลง เช่น ไวรัส NPV ของหนอนเจาะสมอฝ้าย ซึ่งเป็นไวรัสที่พบระบาดอยู่ตามธรรมชาติ
ในแหล่งที่มีหนอนเจาะสมอฝ้ายระบาด ไวรัสชนิดนี้พบว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในการทําลายหนอนเจาะสมอฝ้าย ลักษณะอาการของโรค มีลักษณะอาการทั่วๆ ไป คล้ายกับหนอนกระทู้หอม อาการโรคจะเห็นชัดในวันที่ 3 ภายหลังจากหนอนได้รับเชื้อ
พืชอาหาร
หนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นแมลงศัตรูสําคัญของมะเขือเทศ และยังเป็นศัตรูสําคัญของพืชผักไม้ผล ไม้ดอก และพืชไร่หลายชนิด ได้แก่ ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา พริก มะเขือ กระเจี๊ยบเขียว หน่อไม้ ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน มะม่วงหิมพานต์สตรอเบอรี่ กุหลาบ เบญจมาศ คาเนชั่น เยอบีร่า ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพด ยาสูบ ฝ้าย และปอกระเจา เป็นต้น
ศัตรูธรรมชาติ
แมลงศัตรูธรรมชาติที่พบเข้าทําลายหนอนเจาะสมอฝ้าย ได้แก่ แมลงวันเบียน Tachina sp. และ มวนพิฆาต (Eocanthecona furcellata(Woff)) เป็นต้น
การป้องกันกําจัด
- การใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถพรวนดินตากแดด เพื่อกำจัดดักแด้หนอนเจาะสมอฝ้ายที่อยู่ในดิน การทําลายซากพืชอาหาร เพื่อลดแหล่งอาหารในการขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทําให้ช่วยลดการระบาดของหนอนกระทู้หอมในการปลูกผักครั้งต่อไป
- การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง โดยการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 mesh สามารถป้องกันการเข้าทําลายของหนอนเจาะสมอฝ้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 100เปอร์เซ็นต์
- การใช้เชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ที่มีจําหน่ายเป็นการค้า ได้แก่ Bacillus thuringiensis subsp. aizawai เช่น เซนทารีและ ฟลอร์แบค ดับบลิวดีจีเป็นต้น Bacillus thuringiensis subsp. kurstaki เช่น เดลฟิน และ แบคโทสปิน เอสพีอัตรา60-80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
- การใช้เชื้อไวรัส NPV (Nuclear Polyhedrosis Virus) หนอนเจาะสมอฝ้าย เช่น DOA BIO V2 (กรมวิชาการเกษตร) อัตรา20-30 มล./น้ำ 20 ลิตร เป็นต้น
- การใช้สารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพป้องกันกําจัด เช่น อินด๊อกซาคาร์บ (แอมเมท 15% เอสซี) หรือสปิโนแซด (ซัคเซส 120 เอสซี 12% เอสซี) หรือ อีมาเมคติน เบนโซเอท (โปรเคลม 019 อีซี 1.92% อีซี)อัตรา15,20 และ20 มล./น้ำ20 ลิตร ตามลําดับ