ต้นยูโฟเบีย แลคเทีย Euphorbia lactea หยกนำโชค, สลัดได ลักษณะ ความหมายชื่อ?
ยูโฟเบีย แลคเทีย (Euphorbia lactea)
ยูโฟเบีย แลคเทีย เป็นไม้อวบน้ำที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่มีลักษณะรูปทรงแตกกิ่งก้าน ฟอร์มสวยงาม ตามลำต้นมีลวดลายแต้มสีเขียวอ่อนอมเทา เป็นที่มาของชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ Dragon Bones (กระดูกมังกร) ซึ่งแตกต่างจาก สลัดไดป่า ที่เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ที่ลำต้นสีเขียวล้วนไม่มีลวดลาย
ยูโฟเบีย แลคเทีย เป็นไม้อวบน้ำที่ถูกนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในไทยมานานแล้ว เนื่องจากมีลักษณะรูปทรงกิ่งก้านที่งดงาม ลำต้นมีลวดลายสวยงาม และยังมีข้อดีคือ ปลูกเลี้ยงง่าย ดูแลง่าย ทนแล้งได้ดี ทนทานมาก ตายยาก และขยายพันธุ์ง่าย บางคนเชื่อว่าเป็นต้นไม้มงคล ต้นไม้นำโชค เรียกทรัพย์ ซึ่งได้รับความนิยมปลูกเลี้ยงกันทั่วโลก
สำหรับชื่อไทยที่ใช้เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า สลัดไดเหลือง (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ยังมีชื่ออื่นอีก เช่น ว่านเศรษฐีจีน, สลัดได, สลัดไดศรีลังกา, หยกนำโชค, ยูโฟเบีย แลคเทียเขียว, ยูโฟเบีย กระดูกมังกร เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้ ทางเราจึงขอใช้ชื่อไทยเป็นชื่อทับศัพท์ตามชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia lactea ว่า "ยูโฟเบีย แลคเทีย"
ชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ)
ต้นยูโฟเบีย แลคเทีย มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ (Common name) ว่า Candelabra Cactus, Candelabra Spurge, Dragon Bones, False Cactus, Milkstripe Euphorbia, Mottled Candlestick, Mottled Spurge, Mottled candlestick tree, Milkstriped Euphorbia, Candelabrum tree, Candelabra plant, Hatrack cactus เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
"ยูโฟเบีย แลคเทีย" ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Euphorbia lactea Haw. จัดเป็นพืชในสกุลยูโฟเบีย (Euphorbia) อยู่ในวงศ์ยูโฟเบีย (Euphorbiaceae), วงศ์ย่อย Euphorbioideae
ชื่อภาษาไทยของสกุล Euphorbia บางคนอาจเขียนเป็นชื่อทับศัพท์ว่า ยูโฟเบีย, ยูโฟร์เบีย, ยูฟอเบีย, ยูฟอร์เบีย แต่เราขอใช้ชื่อทับศัพท์ที่ได้รับความนิยมเขียนกันมากที่สุดคือ "ยูโฟเบีย"
ความหมายของชื่อสกุลยูโฟเบีย "Euphorbia" ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ Euphorbus แพทย์ชาวกรีกในคริสต์ศตวรรษที่ 1 ผู้ซึ่งนำเมล็ดพืชที่มีน้ำยางข้นของพืชสกุลนี้ มาใช้เป็นส่วนผสมในการรักษาโรคเป็นครั้งแรก
ความหมายของคำระบุชนิด "lactea" หมายถึง milk สื่อถึง น้ำยางสีขาวข้น คล้ายน้ำนม
ชื่อพ้อง (Synonyms)
- Euphorbia lactea Roxb.
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของต้นยูโฟเบีย แลคเทีย เป็นไม้เฉพาะถิ่น (Endemic species) ซึ่งเป็นพรรณไม้ต่างถิ่น (Introduced species) มีการกระจายพันธุ์ในถิ่นกำเนิดที่พบในประเทศศรีลังกาเท่านั้น ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับนานหลายสิบปีแล้ว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ลักษณะวิสัย: เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง 5 เมตร ทุกส่วนหากเกิดบาดแผล จะมีน้ำยางสีขาวข้นที่เป็นพิษ คล้ายน้ำนม ไหลออกมา
- ลำต้น: กิ่งอวบน้ำ เป็น 3-4 แฉก ขนาด 3-5 เซนติเมตร เป็นร่อง มีหน้าตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือขนมเปียกปูน สันพูมีหนามคู่สีดำ หนามสั้น ประมาณ 5 มิลลิเมตร ลำต้นสีเขียว บริเวณกลางลำต้นและกิ่งมีลวดลายแถบสีเขียวอ่อนอมเทาตลอดแนว
- ใบ: ใบมีขนาดเล็กมาก มักออกที่ยอดใหม่แล้วก็ร่วงไป
- ดอก: ไม่พบว่าออกดอกและติดเมล็ดในไทย
จากพันธุ์ป่า(Species) สู่ พันธุ์ปลูก(Cultivars)
นอกจากต้นยูโฟเบีย แลคเทีย สายสปีชีส์ (พันธุ์ป่า) ชนิดนี้แล้ว ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์เป็นพันธุ์ปลูก สำหรับเป็นไม้ประดับ ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ (Mutation) มาจากต้นยูโฟเบีย แลคเทีย ซึ่งทำให้เกิดลักษณะยอดเจริญเชื่อมติดกันแผ่ไปทางด้านข้าง ดูคล้ายเป็นหงอน (Crested) หรือกำแพง ที่เรียกว่า "คริสตาต้า" (Cristata) ในไทยนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า "คริส"
สันนิษฐานว่า "ยูโฟเบีย แลคเทีย คริสตาต้า" ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ในชื่อ "ต้นหยก" หรือ "ต้นหยกกำแพงเมืองจีน" เพื่อนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยนานหลายสิบปีแล้ว แต่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จากนั้นจึงได้รับความนิยมมากขึ้น เปลี่ยนไปเรียกกันว่า "ต้นหยกนำโชค"
ต้นหยกนำโชค ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Euphorbia lactea Haw. 'Cristata' (ยูโฟเบีย แลคเทีย คริสตาต้า) หรือชื่อพ้องว่า Euphorbia lactea f. cristata ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Crested Elkhorn, Crested Candelabra Plant, Crested Euphorbia lactea, Coral Cactus, Frilled Fan และ Elkhorn
ซึ่งลักษณะการกลายพันธุ์แบบคริสนี้ จะมีรูปแบบ ลวดลายและสีสันต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปได้อีกมากมายหลายลักษณะ ทำให้ต้นหยกนำโชค มีพันธุ์ต่าง ๆ มากมายให้เลือกปลูกหรือสะสมพันธุ์ได้ตามใจชอบ
ต้นหยกนำโชค
ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์ต้นยูโฟเบีย แลคเทีย เพื่อเป็นไม้ประดับ เรียกว่า ต้น"หยก" หรือ หยกนำโชค พันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งก็คือการคัดเลือกการกลายพันธุ์ (Mutation) มาจาก "สลัดไดเหลือง" หรือ 'ยูโฟเบีย แลคเทีย' Euphorbia lactea Haw.
ซึ่งทำให้เกิดลักษณะยอดเจริญเชื่อมติดกันแผ่ไปทางด้านข้างคล้ายเป็นหงอน Crested หรือกำแพง ที่เรียกว่า "คริสตาต้า" (Cristata) ในไทยนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า "คริส"
ยูโฟเบีย 'แลคเทีย คริสตาต้า' ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Euphorbia lactea Haw. 'Cristata' (ยูโฟเบีย แลคเทีย คริสตาต้า) ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Crested Euphorbia lactea, Frilled Fan และ Elkhorn ในไทยมีชื่ออื่น เช่น หยก, หยกนำโชค, หยกกำแพงเมืองจีน
ลักษณะเด่นของ 'ยูโฟเบีย แลคเทีย' คริสตาต้า คือ ลักษณะการกลายพันธุ์แบบคริส ซึ่งมีรูปแบบ ลวดลายและสีสันต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปได้มากมายหลายลักษณะ จึงมีต้นหยกนำโชค พันธุ์ต่าง ๆ ให้เลือกปลูกได้ตามใจชอบ
สันนิษฐานว่า 'ยูโฟเบีย แลคเทีย' คริสตาต้า ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ในชื่อ "หยก" เพื่อนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยนานหลายสิบปีแล้ว แต่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา จากนั้นจึงได้รับความนิยมมากขึ้น เปลี่ยนไปเรียกกันว่า "หยกนำโชค"
วิธีเลี้ยง และการดูแล
การปลูกเลี้ยงและดูแลต้นหยกนำโชค และ ยูโฟเบีย แลคเทีย เป็นไม้อวบน้ำที่ปลูกเลี้ยงง่าย ดูแลง่าย ทนทานมาก ชอบดินปลูกที่โปร่ง ระบายน้ำดี แห้งเร็ว ไม่ชอบดินแฉะขัง เปียกชื้นเป็นเวลานาน ๆ อาจรากเน่าได้ ควรรดน้ำเมื่อดินแห้ง
ควรปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงแดดตลอดวัน จะยิ่งช่วยให้มีลวดลายสีสันชัดเจนมากขึ้น และเจริญเติบโตสมบูรณ์งอกงามดี แต่ก็สามารถปลูกในกระถาง วางหน้าบ้าน ให้ได้รับแสงแดดครึ่งวันก็ได้ หรือ สามารถปลูกลงดิน กลางแจ้ง ตากแดดตากฝนได้เลย ไม่จำเป็นต้องปลูกในโรงเรือน
ต้น'หยกนำโชค' นิยมปลูกเป็นไม้กระถาง (Pot Plants) ไม้ประดับ และยังมีความเชื่อกันว่าเป็นไม้มงคลอีกด้วย การปลูกเลี้ยงและดูแลต้น 'ยูโฟเบีย แลคเทีย' คริสตาต้า ให้เจริญเติบโตสมบูรณ์งอกงามดี ควรปลูกในบริเวณที่ได้รับแสงแดดตลอดวัน จะยิ่งช่วยให้มีลวดลายสีสันชัดเจนมากขึ้น
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ต้นยูโฟเบีย แลคเทีย ไม่พบว่าออกดอกและติดเมล็ดในไทย ดังนั้นการขยายพันธุ์ 'ยูโฟเบีย แลคเทีย' จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ (Cutting)
สำหรับ"ต้นหยกนำโชค" ก็สามารถปักชำกิ่งได้ แต่นิยมใช้วิธีต่อยอด (Grafting) หรือมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า กราฟต์ บนต้นตอยูโฟเบียชนิดอื่น เช่น ต้นส้มเช้า (Euphorbia neriifolia L.) เพราะสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และช่วยแก้ปัญหาโรคเน่าได้ดีกว่าวิธีการปักชำลงดินโดยตรง