✓ต้นไม้: โมกเครือ 'ชะลูดจันดี' ไม้เฉพาะถิ่นของไทย ไม้หายาก?
ชะลูดจันดีเป็นไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งแก่มีเปลือกเป็นคอร์กหนา กิ่งอ่อนทุกส่วนมียางขาว มีช่องอากาศกระจายทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ 3 ใบ หรือพบบ้างที่เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน แผ่นใบบาง เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ปลายหลอดแยกเป็น 5 แฉก
ชะลูดจันดี (โมกเครือจันดี)
ไม้เลื้อย 'ชะลูดจันดี' ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kamettia chandeei D.J.Middleton เป็นไม้เลื้อยในสกุลโมกเครือ Kamettia ซึ่งอยู่ในวงศ์ Apocynaceae.
ชื่อสกุล "Kamettia" อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Rauvolfioideae มี 2 ชนิด อีกชนิดคือ K. caryophyllata (Roxb.) Nicolson & Suresh ที่ใบและกลีบเลี้ยงกว้างและสั้นกว่า โคนใบมนหรือกลม พบที่อินเดีย คล้ายกับสกุล Alyxia ที่เป็นไม้เถาและใบเรียงรอบข้อเหมือนกัน แต่เมล็ดในสกุล Kamettia มีปีก ชื่อสกุลเข้าใจว่าเป็นชื่อสถานที่หรือภูเขาในอินเดีย "Kamet"
คำระบุชนิดในชื่อพฤกษศาสตร์ "chandeei" ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นายจันดี เห็มรัตน์ เจ้าหน้าที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้มองเห็นพืชชนิดนี้เป็นคนแรก ระหว่างการสำรวจทางพฤกษศาสตร์
ถิ่นกำเนิดของ'ชะลูดจันดี' เป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย (endemic) พบทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่ความสูงจากระดับทะเล 200-740 ม. ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พบในป่าดิบบริเวณทางเข้าน้ำตกทอทิพย์ และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ และ อุทยานแห่งชาติภูลังกา จ.นครพนม ตีพิมพ์เป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในวารสาร Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 33 หน้า 75-80 ปี 2005
ไม้เถา ยาวได้ถึง 12 ม. ส่วนต่างๆ มีน้ำยางขาว ลำต้นแก่เป็นคอร์ก กิ่งอ่อนมีช่องอากาศ ใบเรียงรอบข้อ 3 ใบ หรือเรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 5.5–10.5 ซม. แผ่นใบเกลี้ยง ก้านใบยาว 0.6–1 ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกที่ปลายกิ่ง ยาว 3.5–14 ซม. ใบประดับรูปใบหอก ยาว 2–4 มม. ก้านดอกยาว 3–4 มม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 2.5 มม. ดอกสีขาว กลีบเรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก หลอดกลีบดอกด้านนอกสีน้ำตาลแดง ยาว 1.2–1.6 ซม. มี 5 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว 1.2–1.8 ซม.
เกสรเพศผู้ติดเหนือโคนหลอดกลีบดอกประมาณ 5 มม. ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูยาวประมาณ 2.5 มม. ไม่แนบติดก้านเกสรเพศเมีย รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียยาว 1–3.5 มม. รวมยอดเกสร
ผลเป็นฝักคู่ รูปกระสวย เกลี้ยง มีช่องอากาศ ยาวได้ถึง 20 ซม. เมล็ดรูปแถบ แบน ยาวประมาณ 1.5 ซม. รวมปีกทั้งสองข้าง
ปัจจัยการคุกคาม เกิดจากถิ่นอาศัยในป่าถูกแผ้วถางทำให้เกิดความเสื่อมโทรม การประเมินสถานภาพตามเกณฑ์ IUCN (2001) อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง
ที่มาข้อมูลและภาพถ่าย โดย กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.