✓ต้นไม้: 'ว่านหางจระเข้เกลียว' Spiral Aloe ไม้อวบน้ำ หายาก?
พืชประหลาดฉบับนี้ ขอแนะนำ พืชอวบน้ำ ในสกุลว่านหางจระเข้ (Aloe) วงศ์ Xanthorrhoeaceae วงศ์ย่อย Asphodeloideae ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้วงศ์ Liliaceae หรือ Asphodelaceae มีถิ่นกำเนิด ทางตอนใต้ของแอฟริกา มาดากัสการ์ และหมู่เกาะคานารี มีจำนวนมากกว่า 400 ชนิด ชื่อสกุลมาจากภาษากรีก “aloe” หมายถึง ส่วนของใบที่ฝาดหรือขม
ว่านหางจระเข้เกลียว (Spiral Aloe)
ลักษณะสำคัญของพืชสกุลว่านหางจระเข้ คือ ใบอวบหนา ปลายใบแหลมคล้ายเข็มและเนื้อในมีน้ำ เมือกเหนียว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับหลายชนิด ชนิดที่รู้จักกันทั่วไป คือ ว่านหางจระเข้ Aloe vera (L.) Burm. f. ที่นำ ใบมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและสมุนไพรสมานแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลบรอยแผลเป็น และทำเครื่องดื่มหรือน้ำว่านหางจระเข้
ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ
สำหรับชนิดที่จะแนะนำให้รู้จักในฉบับนี้ คือ "ว่านหางจระเข้เกลียว" มีชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษว่า Spiral Aloe มีชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์) ว่า Aloe polyphylla Schönland ex Pill. ซึ่งคำระบุชนิดหมายถึงมีใบจำนวนมาก
ว่านหางจระเข้เกลียว เป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศเลโซโท (Lesotho) ประเทศเล็ก ๆ ที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้ เป็นพืชใกล้สูญพันธุ์และเป็นพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 1 ของ CITES หมายถึง ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือขยายพันธุ์เทียม ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน
ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย จำนวนประชากรลดลงอย่างมาก เนื่องจากถูกลักลอบไปจำหน่าย และเหตุผลอีกประการที่สำคัญคือ นก Malachite sunbird ที่ช่วยผสมเกสรของว่านหางจระเข้เกลียว มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เช่นเดียวกัน
ลักษณะว่านหางจระเข้เกลียว
ลักษณะเด่น พืชล้มลุก ไม่มีลำต้น ใบอวบหนา เรียงเวียนเป็นเกลียว 5 แถว แถวละ 15–30 ใบ เวียนตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกา ช่วยให้ใบรับแสงได้อย่างทั่วถึง ขอบใบจักแหลมคล้ายหนาม ช่อดอกก้านโดด กลีบรวมเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีแดงหรือสีส้มอมชมพู
ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก สีน้ำตาลดำ ขึ้นตามซอกหินที่ระดับความสูงประมาณ 2000-2500 เมตร แถบเทือกเขามาลูติ
ว่านหางจระเข้เกลียว ขยายพันธุ์โดยเมล็ด โตค่อนข้างช้า น้อง ๆ ลองเก็บไปคิดว่าเราจะมีส่วนร่วมอนุรักษ์พืชที่สวยงามใกล้สูญพันธุ์ได้อย่างไร สำหรับพี่ขอไม่ส่งเสริมการค้าพืชป่าโดยไม่ถูกต้องและขาดการจัดการที่ดี สวัสดีค่ะ
อ้างอิง: พืชประหลาด โดย พริกขี้หนู. 2558. Herbarium News หนังสือพิมพ์จิ๋ว ปีที่ 8 ฉบับที่ 1.