จุดสังเกตความแตกต่าง ระหว่าง โสกน้ำ กับ โสกเขา มีลักษณะ แตกต่างกันยังไงบ้าง?
ในช่วงปลายฤดูหนาวย่างเข้าฤดูร้อน จะเป็นช่วงเวลาที่พรรณไม้หลากหลายชนิดพากันผลิดอกออกผลเป็นจำนวนมาก หากใครได้มีโอกาสเข้าไปท่องเที่ยวในป่าบริเวณริมลำห้วย ลำธาร จะพบเห็นพรรณไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นไม้ต้น ออกดอกสีส้ม สีแดง สีชมพูและสีเหลืองรวมอยู่ในช่อเดียวกันคล้ายดอกเข็ม มีกลิ่นหอมหรือไม่มีก็ได้ ผลเป็นฝักแบน
ความแตกต่าง โสกน้ำ กับ โสกเขา
พรรณไม้ชนิดนี้ อาจเป็นโสกน้ำหรือโสกเขาก็ได้ ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของไทย 2 ชนิด ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ที่ชอบขึ้นตามริมลำห้วย ลำธาร ในป่าดิบแล้งทั่วประเทศ
ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงา เนื่องจากเป็นไม้ไม่ผลัดใบ มีดอกและทรงพุ่มที่สวยงาม
โสกน้ำ ยังได้มีการกล่าวถึงไว้ในบทเพลง “กลิ่นดอกโศก” ของปรมาจารย์ทางดนตรี ครูเอื้อ สุนทรสนาน แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่มีความไพเราะและยังคงความเป็นอมตะอยู่จนถึงปัจจุบัน
โสกน้ำ (Saraca indica L.) อยู่ในวงศ์ถั่ว Fabaceae เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 20 เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้าม 1-7 คู่ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ถึงรูปใบหอก ผิวใบเกลี้ยง หากเป็นช่วงที่แตกใบอ่อน ใบอ่อนมีสีขาวแกมเขียว ตัดกับสีของใบแก่ชัดเจน ห้อยย้อยตรงปลายกิ่ง
ดอก เป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมาก ใบประดับรูปไข่ถึงทรงกลมสีส้ม ฐานรองดอกเป็นหลอดยาว 7-16 มม. กลีบเกลี้ยง 4 กลีบ รูปไข่แกมขอบขนานสีส้มแกมแดงและเหลือง ไม่มีกลีบดอก
เกสรเพศผู้ 6-8 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลเป็นฝักแบบแห้งแล้วแตก รูปขอบขนาน ฝักแบนบาง ก้านผลสั้น เมล็ดแบนบาง ใบอ่อนและดอกนำมารับประทานได้
โสกนํ้า มีลักษณะใกล้เคียงกับ โสกเขา Saraca declinata (Jack) Miq. แต่โสกเขามีใบย่อย 3-7 คู่ ใบย่อยรูปรีแกมขอบขนาน ใบอ่อนสีชมพูแกมแดง ดอกย่อยจำนวนมากมีขนาดเล็ก ดอกสีชมพูแกมแดงและเหลือง ไม่มีกลิ่นหอม
เกสรเพศผู้โดยทั่วไปมีจำนวน 4 อัน ผลเป็นฝักแบบแห้งแล้วแตก รูปขอบขนาน ฝักแบนหนาเกือบกลม ปลายผลมีจะงอยยาว ก้านผลยาว 1.5-2 ซม. เมล็ดแบนหนา
โสกหรือโศก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 มีหลายความหมายทั้งความหมายในด้านดีและไม่ดี แต่ความหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรณไม้จะหมายถึง อโศก ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้หลายชนิดในสกุล Saraca
ดังนั้น โสกนํ้า อโศกนํ้า อโศก โสกเขา หรือ อโศกเขา จึงมีความหมายในด้านดีที่ไม่มีความทุกข์ ความโศกเศร้า ซึ่งก็เหมาะสมกับคุณค่าและความสวยงามของต้นโสกนํ้า โดยไม่มีข้อกังวลในความหมายที่ไม่ดีที่อาจมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของพรรณไม้ในกลุ่มต้นโสก
อ้างอิง : สารพันพรรณไม้ โดย ลุงปิ. 2561. Herbarium News หนังสือพิมพ์จิ๋ว ปีที่ 11 ฉบับที่ 1