✓ต้นไม้: 'โมกสยาม' โมกถิ่นเดียวของไทย ไม้ดอกหอม หายาก?
โมกสยาม
โมกสยาม ถูกสำรวจพบครั้งแรกโดยไซมอน การ์ดเนอร์ ชาวอังกฤษ ร่วมกับ พินดา สิทธิสุนทร พบที่เขาหินปูนในจังหวัดพังงา เมื่อ 22 เมษายน พ.ศ. 2549
และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Thai Forest Bulletin เล่มที่ 35 หน้า 80-85 ปีค.ศ. 2007 (ปี พ.ศ. 2550) จากพันธุ์ไม้ต้นแบบ Gardner & Sirisunthorn 2613 (holotype: E; isotypes: BKF, K) ซึ่งเก็บจากอำเภอเมือง จังหวัดพังงา
ชื่อวิทยาศาสตร์
โมกสยาม ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Wrightia siamensis D.J.Middleton จัดเป็นพืชในสกุล Wrightia อยู่ในวงศ์โมก (Apocynaceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มไม้ดอกหอม
Photo by ปรีชา การะเกตุ; เขาสก สุราษฎร์ธานี
ชื่อสกุล "Wrightia" ตั้งชื่อตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ William Wright (1735-1819), คำระบุชนิด "siamensis" (อ่านว่า สยาม-เอนสิส) หมายถึง พบในสยาม(ประเทศไทย) ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทย จึงเป็นที่มาของชื่อไทย ว่า "โมกสยาม" นั่นเอง
ชื่อไทย
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า โมกสยาม (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
นิเวศวิทยา
ต้นโมกสยาม เป็นพืชที่มีความจำเพาะกับระบบนิเวศเขาหินปูน ในประเทศไทยพบในป่าดิบแล้งบนเขาหินปูน ที่ความสูง 20-100 ม. จากระดับทะเล
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของโมกสยาม พบกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคใต้ของไทย แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และ จ.พังงา
โมกสยาม ออกดอกเดือนไหน
ต้นโมกสยาม ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม เป็นผลประมาณเมษายนถึง พฤษภาคม
สถานภาพ
โมกสยาม ถูกจัดว่าเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ในโลกนี้จะพบได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของโมกสยาม
- ลักษณะวิสัย: ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 1-3 ม. โตเต็มที่ ต้นอาจสูงได้ถึง 3 ม.
- ลำต้น: กิ่งก้านโค้ง มีขนสั้นนุ่ม กิ่งแก่ค่อนข้างเกลี้ยง
- ใบ: ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบมีขนสั้นนุ่มทั้งสองด้าน ใบรูปรี กว้าง 1.1-3.6 ซม. ยาว 2.5-11.5 ซม. ปลายเรียวแหลม เส้นแขนงใบ 8-13 คู่
-
ดอกโมกสยาม: ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ยาว 2-2.7 ซม. มี 3-5 ดอก
ก้านช่อดอกยาว 3-7 มม. มีขนประปราย กลีบเลี้ยงรูปไข่ กว้าง 1.7-1.8 มม. ยาว
3-3.2 มม. ปลายแหลม หรือมน ด้านนอกมีขนประปราย มีต่อมโคน 1-2 ต่อม
ปลายหยักซี่ฟัน
กลีบดอกรูปกงล้อ ดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกห่อๆ ม้วนๆ ดอกอาจมีได้หลายโทนสี เช่น ดอกสีแดงอมชมพู, ดอกสีชมพู หรือดอกสีชมพูอมส้ม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ หลอดกลีบทรงกระบอก กว้าง 2.6 มม. ยาว 4.8 มม. เกลี้ยงทั้งด้านนอกและด้านใน แฉกกลีบรูปรี กว้าง 6.5-6.6 มม. ยาว 14-15 มม. ปลายมน มีปุ่มเล็ก ๆ กระจายทั่วไปถึงมีขนประปรายทั้งด้านในและด้านนอก
ลักษณะเด่นของดอกโมกสยาม ก็คือกระบังดอกมีทั้งเรียงตรงกัน กับแฉกกลีบดอก และเรียงระหว่างกลีบดอก กระบังดอกที่เรียงตรงกันกับกลีบดอก เกลี้ยง ยาว 4.2-4.3 มม. ปลายแหลมหรือหยักซี่ฟันเล็กน้อย โคนติดกับกลีบดอก กระบังดอกที่เรียงระหว่างกลีบดอก ยาว 2.7-3 มม. ปลายแยกเป็นสองแฉก โคนติดกับกระบังดอกที่เรียงตรงกันกับกลีบดอก
เกสรเพศผู้ติดอยู่ตอนปลายของหลอดกลีบดอก อับเรณูหันหน้าเข้าแกนดอก ติดกับก้านยอดเกสรเพศเมีย ก้านเกสรเพศผู้ยาวประมาณ 1.1 มม. เกสรเพศเมียมี 2 คาร์เพลแยกกัน มีก้านยอดเกสรร่วม ยาวประมาณ 8.5 มม. รังไข่เกลี้ยง - ผล: ผลเป็นฝักคู่ แยกกัน รูปทรงกระสวย กว้าง 4.5-5 มม. ยาว 13.5-14 ซม. ผิวฝักมีขนละเอียดกระจาย และผิวฝักมีช่องอากาศชัดเจน เมื่อฝักแก่จะแตกออก ผลแบบแตกแนวเดียว ภายในมีเมล็ดรูปแถบ ที่โคนมีขนกระจุก ช่วยให้ปลิวลอยลมไปได้ไกล