✓ต้นไม้: โมกเหลืองหอม โมกพื้นเมืองของไทย ดอกมีกลิ่นหอม?
ต้นโมกเหลืองหอม มีเขตการกระจายพันธุ์ที่ค่อนข้างกว้าง พบได้ตั้งแต่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย ไปจนถึงออสเตรเลียตอนบน สำหรับในประเทศไทย พบกระจายห่างๆ ทางภาคเหนือตอนล่าง และพบทางภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พังงา แหล่งที่พบ ขึ้นตามหุบเขา หรือเขาหินปูนเตี้ยๆ ระดับความสูง 200-1000 เมตร
โมกเหลืองหอม
Photo by
gzxmq
โมกเหลืองหอม เป็นโมกพื้นเมืองของไทย ที่จัดได้ว่าเป็นโมกหายาก เพราะไม่ค่อยพบวางขายตามร้านขายต้นไม้ทั่วไป
"โมกเหลืองหอม" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia laevis Hook.f. จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae (ชื่อสกุล "Wrightia" ตั้งชื่อตามนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ William Wright (1735-1819), คำระบุชนิด "laevis" หมายถึง smooth เพื่ออธิบายว่า ผิวใบเรียบ )
ต้นโมกเหลืองหอม มีลักษณะวิสัยเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้น สูงได้ถึง 5-10 เมตร ใบโมกเหลืองหอม เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบบาง ปลายใบแหลมยาว แผ่นใบเกลี้ยง เรียบเป็นมัน
ดอกโมกเหลืองหอม ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกอาจยาวได้ถึง 6 ซม. (ถือว่า ช่อดอกยาวกว่าโมกเหลืองอื่นๆ อย่างชัดเจน) ดอกบานรูปกงล้อ ดอกสีเหลือง ขนาดดอกค่อนข้างเล็ก ไม่เกิน 3 ซม. มีกะบังสีเหลือง 3 ชั้น คือ กะบังหน้ากลีบดอก ปลายเป็นชายครุย, กะบังระหว่างกลีบดอกปลายแยกเป็น 2 แฉกลึก, กะบังย่อย ออกเดี่ยวๆ ยาวประมาณ 2 มม. ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
ดอกโมกเหลืองหอม จะมีลักษณะคล้ายกับ ดอกโมกเหลือง Wrightia viridiflora Kerr แต่มีความแตกต่างกันคือ ดอกโมกเหลืองหอม จะมีกะบังหน้ากลีบดอก ยาวเท่าๆกับ กะบังระหว่างกลีบดอก แต่ในขณะที่กะบังของดอกโมกเหลือง (W. viridiflora) กะบังจะยาวไม่เท่ากัน และ กลิ่นดอกโมกเหลืองหอม จะมีกลิ่นหอมมากกว่า ดอกโมกเหลืองเขียว
ฝักโมกเหลืองหอม ผลเป็นฝักคู่ รูปกระสวย ยาว 16-22 ซม. ผิวเกลี้ยง เมล็ดรูปแถบ ที่โคนเมล็ดมีขนกระจุก ช่วยให้ปลิวลอยลมไปได้ไกลครับ
- โมกเหลืองหอม วงศ์ Apocynaceae
- ชื่อวิทยาศาสตร์ โมกเหลืองหอม : Wrightia laevis Hook.f.
- ชื่ออื่น : โมกเหลือง
อ้างอิง : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้