✓ต้นไม้: โมกการะเกตุ โมกเฉพาะถิ่นไทย อ.เชียงดาว เชียงใหม่?

"โมกการะเกตุ" เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ พบเพียงแห่งเดียวทางภาคเหนือ กิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้ชายแดนไทย-พม่า

โมกการะเกตุ

โมกการะเกตุ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia karaketii D. J. Middleton วงศ์โมก Apocynaceae คำระบุชนิด "karaketii" ตั้งเป็นเกียรติแก่นายปรีชา การะเกตุ หนึ่งในคณะสำรวจพรรณไม้ ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้

โมกการะเกตุ โมกถิ่นเดียวของไทย อ.เชียงดาว เชียงใหม่ ดอกสีแดงสด
ภาพ : ดอกโมกการะเกตุ โดย ราชันย์ ภู่มา [1]

โมกการะเกตุ ได้รับการตีพิมพ์เป็นโมกชนิดใหม่ในสกุลโมก Wrightia ลงในวารสาร Gardens' Bulletin Singapore เล่มที่ 61 ฉบับที่ 2 หน้า 370 ปีค.ศ. 2010, ตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิงต้นแบบ Pooma, Karaket, Pattharahirantricin & Sirimongkol 6732 (holotype: BKF; isotype: E)

รายละเอียดเพิ่มเติม

นิเวศวิทยาขึ้นตามเขาหินปูนเตี้ยๆ ในป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ออกดอกประมาณเดือนพฤษภาคม ติดผลประมาณเดือนกันยายน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นโมกการะเกตุ มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 5-10 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นประมาณ 15 ซม. เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีช่องอากาศกระจาย กิ่งอ่อนมีขนละเอียดรูปตะขอสั้นๆ

ใบ รูปรี ยาว 9-21 ซม. ปลายใบแหลม มน หรือเว้าตื้น ปลายเป็นติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม แผ่นใบมีขนละเอียดทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 15-19 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม.

ดอกโมกการะเกตุ ออกดอกเป็นช่อดอก ออกสั้นๆ ตามปลายกิ่ง มีขนละเอียด ก้านช่อดอกยาวได้ประมาณ 2 ซม. ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. กลีบเลี้ยง รูปไข่ ยาวได้ประมาณ 5.5 มม. ปลายมน มีขนละเอียดด้านนอก สีเขียว มีต่อมกว้างที่โคนกลีบด้านใน กลีบดอกบานรูปกงล้อ ดอกสีแดงสด มีสีเขียวที่โคนด้านนอก

หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนละเอียดด้านนอก กลีบรูปไข่กลับ ยาว 1.7-2 ซม. ปลายมน มีปุ่มเล็กๆ กระจายทั้งด้านในและด้านนอก กระบังสีเดียวกับกลีบดอก เรียงเชื่อมติดกันเป็นวง แนบติดกลีบดอกที่โคน ปลายเป็นชายครุย ไม่แนบติดกลีบดอก เกสรเพศผู้ 5 อัน อับเรณูสีเหลือง โคนเป็นเงี่ยงลูกศร รังไข่เกลี้ยง

โมกการะเกตุ โมกถิ่นเดียวของไทย อ.เชียงดาว เชียงใหม่ ดอกสีแดงสด
ภาพ : ฝักโมกการะเกตุ โดย ปรีชา การะเกตุ [1]

จุดสังเกตของโมกการะเกตุ มีลักษณะคล้ายโมกเขา Wrightia lanceolata Kerr และ โมกสยาม Wrightia siamensis D.J.Middleton แต่ความแตกต่างคือ โมกการะเกตุมีใบขนาดใหญ่กว่า หลอดกลีบดอกสั้นกว่า และกะบังแฉกมากกว่า

ผล(ฝัก)โมกการะเกตุ ออกเป็นฝักคู่ กางออก กว้าง 0.7-1 ซม. ยาว 29.5-40 ซม. ผิวฝักเกลี้ยง มีช่องอากาศหนาแน่น เมล็ดรูปแถบ ยาวประมาณ 1.7 ซม. ที่โคนมีขนกระจุก ยาวประมาณ 3 ซม.

อ้างอิง

  1. กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  2. Middleton, D.J. (2010). Three new species of Wrightia (Apocynaceae: Apocynoideae) from Thailand. Gardens’ Bulletin Singapore 61 (2): 369-378.

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

มวนนักกล้าม แมลงศัตรูพืชตระกูลถั่ว ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วฝักยาว?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นกระถินณรงค์ แตกต่าง กระถินเทพา ลักษณะ ข้อดี ประโยชน์ วิธีปลูก ขยายพันธุ์?

ต้นมั่งมี (เฉียงพร้านางแอ) มั่งมีศรีสุข ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นลัดดาวัลย์ (ลดาวัลย์) ชอบแดดไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก การขยายพันธุ์ ราคาถูก?

แคคตัส ดาวล้อมเดือน อิชินอปซิส Echinopsis calochlora ลักษณะเด่น วิธีปลูก ดูแล?

อิมิดาโคลพริด imidacloprid คืออะไร อันตรายไหม? ประโยชน์ ออกฤทธิ์ วิธีใช้ ราคา?