ต้นจำลา ไม้ดอกหอมวงศ์จำปีของไทย ออกดอกช่วงเดือนไหน ไม้หายาก ใกล้สูญพันธุ์?
จำลา เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทยอีกชนิดหนึ่งในวงศ์จำปา ที่มีดอกสวยงามและกลิ่นหอมหวาน จนทำให้หลายคนยากจะห้ามใจ นำเมล็ดของจำลาไปเพาะ เพื่อปลูกไว้เชยชมอย่างใกล้ชิด แต่เป็นพรรณไม้หายาก ที่พบเฉพาะตามริมลำธารในป่าดิบชื้น และในหุบเขา ทางภาคใต้ตอนล่างในจังหวัดสงขลาและพังงาเท่านั้น ...
จำลา
จำลา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia praecalva (Dandy) Figlar & Noot. วงศ์จำปี Magnoliaceae ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่จำลาไม่อาจขยายพันธุ์ได้นอกถิ่นกำเนิด เพราะแม้แต่ในถิ่นกำเนิดในหุบเขาที่ระดับความสูง 400-600 ม. เมล็ดของจำลาก็ถูกเชื้อราในดินทำลายจนไม่อาจงอกเป็นต้นใหม่ได้
การขยายพันธุ์จำลาจึงไม่อาจกระทำได้ แม้จะมีความพยายามที่จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการอื่นๆ เช่นการทาบกิ่ง เสียบยอด ตอนกิ่ง หรือปักชำ ก็ล้วนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้เนื่องจากจำลาเป็นพรรณไม้ที่มีพันธุกรรมห่างจากพรรณไม้อื่นชนิดที่อยู่ในสกุลจำปา ดังนั้นเมื่อนำต้นตอจำปามาทาบ เนื้อไม้ของจำปากับจำลาจึงเข้ากันไม่ได้ ทำให้ทาบไม่ติดด้วยชะตากรรมอันแสนเศร้าเช่นนี้เอง พรรณไม้ชนิดนี้จึงถูกเรียกขานว่า "จำลา"
โดยผู้ที่ตั้งชื่อนี้ให้ก็คือ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ ซึ่งเล็งเห็นว่าการกระจายพันธุ์ที่ต่ำมากของพรรณไม้ชนิดนี้มีต้นเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียงไม่กี่ต้น อาจทำให้มันจำต้องลาจากโลกนี้ไปในไม่ช้า จึงเป็นที่มาของชื่อ จำลา ที่เราเรียกขานอยู่ในปัจจุบัน
จำลาออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม เมื่อเริ่มแย้มมีดอกสีขาวนวลและสีเข้มขึ้นเล็กน้อยเมื่อใกล้ โรย ส่งกลิ่นหอมหวาน และบานอยู่ได้ 2-3 วัน
ลักษณะพรรณไม้ของจำลา
ต้นจำลา มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 25-35 ม. โคนลำต้นเป็นพูพอนสูง 1-2 ม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาเรียบและมีกลิ่นฉุน
ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 3.5-5 ซม. ยาว 10-13 ซม. โคนใบรูปลิ่ม ปลายใบมนทู่ ผิวเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน
ดอกจำลา ออกดอกเดี่ยวที่ปลายยอด กาบหุ้มดอกสีเขียว อ่อน บางและเรียบ ดอกบานตั้งขึ้น มีกลีบดอก 9 กลีบ เรียงเป็น 3 ชั้น กลีบดอกชั้นนอกค่อนข้างบาง รูปหอกแกมรูปขอบขนาน กลีบชั้นกลางและชั้นในหนา อวบน้ำ
ผล(ฝัก)จำลา มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมชูตั้งขึ้น ขนาด 3-4 ซม. เปลือกผลหนาแข็ง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แตกตามรอยพูในแนวตั้งคล้ายผลทุเรียน มีผลย่อย 4-5 ผล แต่ละผลมีเมล็ดสีแดง 5-8 เมล็ด
ผลจำลาแตกต่างจากพรรณไม้ในวงศ์จำปาอย่างสิ้นเชิง คือผลจะแตกเป็นพูเหมือนทุเรียน เมล็ดรูปทรงกลมรี และมีสันเหลี่ยม สีแดง ยาว 6-8 มม.
การขยายพันธุ์จำลา เป็นพรรณไม้ที่มีผลแก่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีความชื้นสูงมาก เมื่อผลแก่หล่นลงมากระแทกกับพื้นดินก็จะแตก เมล็ดได้รับบาดแผลหรือเสียหายแล้วมีเชื้อราเข้าทำลายจนสูญเสียความงอก ทำให้ไม่สามารถงอกได้ จึงไม่พบต้นกล้าของจำลา ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาวิธีการที่จะช่วยให้ขยายพันธุ์ได้