✓ต้นไม้: จำปีเพชร พันธุ์ดอกขาว/ดอกลาย จำปีพื้นเมืองของไทย?

"จำปีเพชร" หนึ่งในพรรณไม้วงศ์จำปาที่หายากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะลักษณะเด่นในด้านของการเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ดอกมีกลิ่นหอมแรง จึงมีโอกาสที่จะนำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ดี จำปีเพชร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia mediocris (Dandy) Figlar วงศ์จำปี Magnoliaceae จำปีพื้นเมืองของไทย ...

จำปีเพชร


ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้

จำปีเพชรมีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบเขาทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในระดับความสูง 1,000 ม. 

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนในต่างประเทศพบที่ประเทศจีน เวียดนาม และกัมพูชา พรรณไม้ชนิดนี้มีการสำรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จึงได้รับการตั้งชื่อว่า จำปีเพชร

แต่ในปัจจุบันยังไม่พบต้นจำปีเพชรที่จังหวัดอื่นอีกเลย และก็ยังไม่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นได้ นอกจากการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยการเพาะเมล็ด เพราะจำปีเพชรเป็นพรรณไม้ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ในการปลูก ที่จะต้องเป็นพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น ไม่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ราบ

จากการที่เป็นพรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย พบเฉพาะบนยอดเขาพะเนินทุ่ง มีต้นแม่พันธุ์ขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ต้น มีอัตราการขยายพันธุ์ต่ำมาก และไม่พบต้นขนาดเล็กอยู่ใต้ต้นหรือใกล้เคียงกับต้นแม่พันธุ์เลย จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าหากต้นขนาดใหญ่ที่มีอยู่ถูกทำลายหรือตายไป จำปีเพชรก็จะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย

ปัจจุบันจึงมีความพยายามจะนำเมล็ดของต้นจำปีเพชร ไปปลูกในพื้นที่อุทยานแห่งใดแห่งหนึ่ง ที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกับบริเวณที่ค้นพบ เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาชมและเก็บภาพความประทับใจกลับไป

แต่ถ้าตอนนี้ใครอยากชื่นชมความงดงามของพรรณไม้ชนิดนี้ คงต้องเดินทางไปยังเขาพะเนินทุ่ง ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูดอกบาน รับรองว่าจะได้ชื่นชมพรรณไม้ทรงพุ่มสวยงามนามว่าจำปีเพชรนี้อย่างแน่นอน

ลักษณะพรรณไม้ของจำปีเพชร

ต้นจำปีเพชร มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 20-30 ม. ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนาแข็ง มีกลิ่นฉุน แตกกิ่งยาวเป็นพุ่มใหญ่ที่ยอดทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบเดี่ยวเรียงเวียนรอบกิ่ง รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3.5-5.5 ซม. ยาว 8-14 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนกลมหรือเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเป็นคลื่น เนื้อใบหนา แข็งกรอบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันเรียบ ด้านล่างมีสีขาวเคลือบอยู่ มีเส้นกลางใบนูนเด่น ก้านใบไม่มีแผลของหูใบ

ดอกจำปีเพชร ออกดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกบานตั้งขึ้น ดอกเริ่มแย้มและส่งกลิ่นหอมในเวลาพลบค่ำแล้วบานในวันรุ่งขึ้น ในช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดดรุนแรง จะส่งกลิ่นหอมได้น้อยลง แล้วกลีบดอกแต่ละกลีบจะร่วงในวันถัดมา ดอกสีขาวนวล กลิ่นหอมแรง ดอกบานอยู่ได้ 2 วัน เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย ดอกตูมรูปกระสวย เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1 ซม. ยาว 2.5-2.8 ซม. กลีบดอกมี 9 กลีบ เรียงเป็นชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปหอกแกมรูปขนาน กลีบชั้นในมีขนาดเล็กและสั้นกว่าเล็กน้อย

ผล(ฝัก)จำปีเพชร มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม ช่อยาว 2-3.5 ซม. มีผลย่อย 3-6 ผล แต่ละผลเรียงติดอยู่บนแกนกลางผล ผลรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. ผิวของผลมีช่องอากาศสีขาว ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลย่อยแตกตามแนวยาว แต่ละผลมี 1-4 เมล็ด ลักษณะเมล็ดสีแดงเข้มรูปกลมรี ขนาด 5-7 มม.

การขยายพันธุ์จำปีเพชร ปัจจุบันมีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เนื่องจากมีผู้พยายามจะนำเมล็ดมาเพาะเพื่อขยายพันธุ์ให้มากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดที่ต้องปลูกในพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น จึงอาจยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลาย ความหวังที่มีอยู่คือต้องเร่งรีบขยายพันธุ์และนำไปปลูกไว้ในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หน่วยพัฒนาต้นน้ำ ตามหน่วยราชการหรือตามแหล่งพักผ่อนที่อยู่ในพื้นที่ระดับสูงที่มีอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นสูง

อ้างอิง* : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

การขยายพันธุ์จำปีเพชร ด้วยวิธีการเสียบยอด ทาบกิ่ง การขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิดเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ วว. ประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิดเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยการนำปลายยอดของกิ่งจำปีเพชรขาวมาทดลองเสียบยอดกับต้นตอจำปาพบว่า สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบภาคกลาง แตกกิ่งก้านจำนวนมาก

จากนั้นได้ทำการทาบกิ่งจำปีเพชรด้วยต้นตอจำปาอีกครั้งหนึ่ง พบว่าวิธีการขยายพันธุ์จำปีเพชรโดยวิธีการทาบกิ่งด้วยต้นตอจำปาเป็นวิธีการที่ได้ผลดี สะดวก รวดเร็วและประหยัด สามารถขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมาก เมื่อนำออกปลูกนอกถิ่นกำเนิดเดิม ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี จึงนับได้ว่าจำปีเพชรในประเทศไทยไม่มีโอกาสสูญพันธุ์แล้ว จากการขยายพันธุ์บนต้นตอจำปาพบว่า เพียง 1 ปี ก็สามารถให้ดอกได้แล้ว

ผู้สนใจสามารถนำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับลงแปลงกลางแจ้งได้ในพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่าหากปลูกบนภูเขาหรือบนพื้นที่ระดับสูงจะออกดอกได้เร็ว เนื่องจากจำปีเพชรชอบแดดจัดและความชื้นสูง โดยเฉพาะปลูกในดินร่วนจะดีมากเพราะชอบดินร่วนระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบดินชื้นที่มีน้ำขังแฉะ แต่ไม่แนะนำให้ปลูกเป็นไม้กระถางเนื่องจากเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่

จำปีเพชรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia mediocris (Dandy) Figlar มีการสำรวจพบครั้งแรกของโลกที่ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2471 สำหรับในประเทศไทยมีการสำรวจพบครั้งแรกโดย วว. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 จากบนสันเขาใกล้แนวชายแดนไทย-พม่า ในเขตจังหวัดเพชรบุรี ที่ระดับความสูง 1,100 เมตร สำหรับเหตุผลที่เรียกว่า “จำปีเพชร” เนื่องจากสำรวจพบครั้งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี

หลังจากที่ วว. ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การอนุรักษ์พรรณไม้ในวงศ์จำปีจำปาในประเทศไทย” จากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ก็ได้ทำการสำรวจพรรณไม้ในวงศ์จำปีจำปาทั่วประเทศ

แล้วได้พบจำปีเพชรขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งมีอยู่เพียง 2-3 ต้น นับว่าหายากและใกล้สูญพันธุ์มาก ไม่มีต้นกล้าเล็กๆ ขึ้นอยู่เลย มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก เกรงว่าจะสูญพันธุ์ จึงหาทางขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์มิให้สูญพันธุ์ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม พ.ศ. 2551 ได้มีการสำรวจพบจำปีเพชรอีกครั้งหนึ่ง จำนวน 2 ต้น ในพื้นที่ป่าภาคตะวันออกเฉียงใต้ในเขตจังหวัดจันทบุรี ในระดับความสูง 1,000 เมตร เป็นต้นขนาดใหญ่มาก มีเส้นผ่านศูนย์กลางที่โคนต้นถึง 2.50 เมตร และมีความสูงราว 40 เมตร แต่ก็ไม่พบต้นกล้าขนาดเล็กขึ้นอยู่ที่ใต้ต้นแม่พันธุ์แต่อย่างใด

ในขณะนั้นพบผลอ่อนร่วงอยู่ จึงรอจนถึงเดือนตุลาคม แล้วเข้าไปเก็บผลแก่มาเพาะเมล็ด ปรากฏว่าเมล็ดไม่งอกทั้งหมด ต่อมาได้นำปลายยอดมาทดลองเสียบกิ่ง จนถึงปี พ.ศ. 2552 จึงประสบผลสำเร็จในการขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด โดยการเสียบยอดและทาบกิ่ง แล้วทำการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีลงสู่เกษตรกร จนเกษตรกรสามารถขยายพันธุ์เองได้

นับว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ แล้วยังช่วยให้จำปีเพชรแพร่หลายได้รวดเร็วขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ วว. ที่ช่วยขยายพันธุ์จำปีเพชร ต้นไม้ที่เคยหายากและใกล้สูญพันธุ์ ให้คนไทยได้นำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับสวยงาม มีกลิ่นหอมแรง ช่วยอนุรักษ์ไว้มิให้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย หรือสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ได้แล้ว นับถึงวันนี้ วว. รับประกันได้ว่า จำปีเพชรไม่สูญพันธุ์แล้ว

จำปีเพชรมีดอกที่แตกต่างกันเป็น 2 แบบ คือมีกลีบดอกสีขาวล้วน เรียกว่า "จำปีเพชรขาว" และมีกลีบดอกลายแดง เรียกว่า "จำปีเพชรลายแดง" ขณะนี้ วว. สามารถขยายพันธุ์ต้นจำปีเพชรขาวได้แล้ว เป็นต้นที่มีดอกดก กลิ่นหอมแรง ปรกติจะออกดอกในเดือนกันยายนถึงมกราคม (แต่บางปีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฤดูออกดอกก็จะเปลี่ยนแปลงไป) มีกลีบดอกจำนวน 9-10 กลีบ แต่ละกลีบยาว 3.5 เซนติเมตร ดอกบานอยู่ได้ 2-3 วัน

ทั้งนี้ ดร.ปิยะได้แถลงความสำเร็จของการขยายพันธุ์ "จำปีเพชร" นอกพื้นที่ครั้งแรกในไทย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.54 ณ ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี และเผยว่า วว.พร้อมถ่ายทอด และขยายพันธุ์ให้ผู้สนใจ นำไปปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย

อ้างอิง: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นลัดดาวัลย์ (ลดาวัลย์) ชอบแดดไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก การขยายพันธุ์ ราคาถูก?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

สตาร์เกิลจี วิธีใช้ยังไง ช่วยอะไร อันตรายไหม ซื้อที่ไหน ราคาถูก

ต้นกระถินณรงค์ แตกต่าง กระถินเทพา ลักษณะ ข้อดี ประโยชน์ วิธีปลูก ขยายพันธุ์?

ต้นบอนในสกุล อโลคาเซีย Alocasia ของไทยมีกี่ชนิด ลักษณะแตกต่างกัน อะไรบ้าง?

มวนนักกล้าม แมลงศัตรูพืชตระกูลถั่ว ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วฝักยาว?

ต้นโมกเขา (โมกราชินีดอกส้ม, โมกสามร้อยยอด) วิธีปลูกต้นโมกเขา ขยายพันธุ์ ราคา?