ต้น'จำปีถิ่นไทย' จำปีพื้นเมืองของไทย สกุลแมกโนเลีย หายาก?
จำปีถิ่นไทย
"จำปีถิ่นไทย" เป็นพรรณไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย ในวงศ์จำปี Magnoliaceae ในไทยพบขึ้นกระจายห่าง ๆ ทางภาคใต้ที่ชุมพร สงขลา พังงา นราธิวาส
นิเวศวิทยาขึ้นตามสันเขาหรือที่ลาดชันในป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศไทย ไปถึงคาบสมุทรมลายู และสุมาตรา
จำปีถิ่นไทย อยู่ในสกุลแมกโนเลีย Magnolia
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia koordersiana (Noot.) Figlar มีชื่อพ้องคือ Michelia koordersiana Noot.
ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน Proc. Int. Symp. Magnoliac. 1: 22 (2000)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของจำปีถิ่นไทย
ต้นจำปีถิ่นไทย มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ถึง 30 ม. มีหูใบติดที่โคนก้านใบ ยาว 1-1.5 ซม. ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาว 6-23 ซม. ปลายแหลมยาว มักเบี้ยว ก้านใบยาว 1-2 ซม.
ดอกจำปีถิ่นไทย ออกดอกเป็นช่อยาวประมาณ 1.5 ซม. ก้านดอกสั้น ดอกสีเหลือง มี 9 กลีบ เรียง 2 วง รูปใบหอกแคบ กลีบวงนอก 3 กลีบ ยาว 1.2-2.2 ซม. กลีบวงใน 6 กลีบ หนากว่า
เกสรเพศผู้ยาว 5-7 มม. รวมแกนอับเรณูที่เป็นรยางค์ คาร์เพล 8-12 อัน มีขนสั้นสีเทา ก้านยาว 4-6 มม. ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ ติดผลในเดือนเมษายน
ผล(ฝัก)จำปีถิ่นไทย มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ก้านยาวประมาณ 4.5 ซม. ผลย่อยแยกกัน ยาว 1.5-2.5 ซม. แต่ละผลมี 1-2 เมล็ด เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง