จำปีช้าง จำปีที่มีฝักขนาดใหญ่ที่สุด ในสกุลแมกโนเลีย ไม้ดอกหอมไทย ลักษณะเด่น?

หลายคนอาจสงสัยและอยากถามว่า ทําไมจําปีชนิดนี้ จึงมีชื่อว่า "จําปีช้าง" คําตอบก็คือมีผลขนาดใหญ่ที่สุด(ในโลก) ในจําพวกจำปีจําปาด้วยกัน ผลมีลักษณะกลมรียาว 5-7.5 ซม. แต่กว่าจะมาเป็น "จําปีช้างนี้เป็นจําปีชนิดใหม่ของโลก" มีความเป็นมาอย่างไรเป็นเรื่องน่ารู้ เราลองมาติดตามบันทึกของจําปีช้างกันดีกว่า...

จำปีช้าง

จําปีที่เรารู้จักกันเป็นพรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae หรือที่เรียกว่าไม้วงศ์จําปา เคยจัดอยู่ในสกุล (Genus) Micheliaโดย Dandy มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2470

จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2543 ได้มีการยุบเป็นสกุลย่อยรวมเข้าไปไว้ในสกุล Magnolia (Figlar, 2000) โดยมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากสกุลย่อยอื่นๆ คือออกดอกที่ซอกใบ จากข้อกําหนดในการเรียกชื่อระบุว่า "จําปีมีดอกสีขาว ส่วนจําปามีดอกสีเหลืองหรือสีอื่นๆ"

จำปีช้าง ไม้ดอกหอมถิ่นเดียวของไทย ผล/ฝักใหญ่ที่สุดในสกุลจำปี ดอกหอมแรง

พรรณไม้ที่อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae มีอยู่ทั่วโลก 220 ชนิด (Frodin and Govaerts, 1996) มีอยู่ในประเทศไทยประมาณ 20 ชนิด เช่น จําปา จําปีป่า ทังเก มณฑาดอย มณฑาป่า มณฑาภู แก้วมหาวัน ฯลฯ เป็นพรรณไม้พื้นเมืองที่ขึ้นกระจายอยู่ทั่วประเทศ

รายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในป่าที่มีความชื้นสูงและอยู่ในพื้นที่ระดับสูงที่เรียกว่าป่าดิบเขา มีเพียงชนิดเดียวของไทยและของโลกที่สามารถขึ้นอยู่ได้ในพื้นที่น้ำแช่ขัง คือ "จําปีสิรินธร" ซึ่งมีการประกาศการค้นพบไปในปี พ.ศ. 2543 หลังจากนั้นก็มีการประกาศการค้นพบจําปีชนิดใหม่ของโลกอีกครั้งในปีพ.ศ. 2545 คือ "จําปีศรีเมืองไทย" (ปิยะ, 2545)

ในการเก็บตัวอย่างจําปีของศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 จาก อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ ที่ระดับความสูง 1,200 ม. แล้วนําตัวอย่างแห้งมาเก็บไว้ในหอพรรณไม้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (BKF) ได้จําแนกชื่อว่า Michelia tignifera

ต่อมา ชื่อระบุชนิด tignifera ถูกยุบเป็นชื่อพ้องของชื่อระบุชนิด lacei เนื่องจากเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลัง และหลังจากปี พ.ศ. 2543 เมื่อมีการยุบสกุล Michelia เข้าไปไว้ในสกุล Magnolia จําปีชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า Magnolia lacei (W.W.Sm.) Figlar

จากการสํารวจพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จําปาทั่วประเทศของผู้เขียน ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

ได้เก็บตัวอย่างในปี พ.ศ. 2541 ที่เป็นกิ่งยอด ใบ ดอก ผลและเมล็ดของจําปีช้าง จากต้นเดิมที่ศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันทน์ เคยเก็บในปี พ.ศ. 2533 มาตรวจสอบอย่างละเอียด และเมื่อนําไปเทียบกับตัวอย่างต้นแบบ (holotype) ของ Magnolia lacei (W.W.Sm.) Figlar ที่อยู่ในหอพรรณไม้ของประเทศจีน พบว่าเป็นคนละชนิดกัน

จำปีช้าง ไม้ดอกหอมถิ่นเดียวของไทย ผล/ฝักใหญ่ที่สุดในสกุลจำปี ดอกหอมแรง

เนื่องจากมีความแตกต่างกันหลายประการ และเมื่อได้ตรวจสอบซ้ำ โดย Dr. Hans P. Nooteboom นักพฤกษศาสตร์แห่งหอพรรณไม้ไลเดนประเทศเนเธอร์แลนด์ จึงได้ร่วมมือกันตั้งชื่อเป็นจำปีชนิดใหม่ของโลก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia citrata Noot. & Chalermglin อยู่ในวงศ์ Magnoliaceae

รายละเอียดเพิ่มเติม

ชื่อระบุชนิด citrata ตั้งขึ้นเนื่องจากเยื่อหุ้มเมล็ดมีกลิ่นเหมือนตะไคร้รุนแรงมาก (Chalermglin & Nooteboom, 2007) ตีพิมพ์รายงานการตั้งชื่อ ในวารสาร BLUMEA ฉบับที่ 52 หน้า 559-562 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2550

และได้ประกาศแถลงข่าวการค้นพบเมื่อวันที่ 17 มี นาคม พ.ศ.2551 ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เมื่อครั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าเยี่ยมชมการดําเนินงานของ วว. เทคโนธานีคลองห้า จ.ปทุมธานี

ลักษณะของต้นจําปีช้าง เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-35 ม. เปลือกลําต้นหนาและมีกลิ่นฉุน ใบเดี่ยวเรียงเวียนรอบกิ่ง ใบรูปรีจนถึงเกือบกลม แผ่นใบหนาและเหนียว กว้าง 12-18 ซม. ยาว 20-25 ซม.

มีใบเกล็ดหุ้มยอดอ่อน แต่ไม่มีรอยแผลบนก้านใบ ดอกเดี่ยว ออกดอกที่ซอกใบ ดอกสีขาว กลีบดอกมี 9-12 กลีบ ผลกลุ่มมีผลย่อย 2-8 ผล ผลกลมรี ยาว 5-7.5 ซม. เปลือกผลหนามากและมีช่องหายใจเป็นจุดนูนเด่นสีขาวกระจายทั่วผล

ลักษณะเด่นของจําปีช้าง ที่สังเกตได้ง่าย คือมีใบรูปร่างค่อนข้างกลม ใบใหญ่และหนา คล้ายใบสะท้อน มีผลขนาดใหญ่ที่สุดในพวกจําปีจําปา และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง มีกลิ่นคล้ายตะไคร้แต่กลิ่นรุนแรงมาก

มีสถานภาพของจําปีช้างในถิ่นกําเนิด จัดเป็นพรรณไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีต้นแม่พันธุ์เหลืออยู่ในถิ่นกําเนิดเพียงไม่กี่ต้น มีกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะบนยอดเขาสูง มากกว่า 1,200 ม. ใน จ.เชียงใหม่ เลย และน่าน

การขยายพันธุ์จําปีช้าง โดยวิธีการเพาะเมล็ดทําได้ยากมาก เนื่องจากเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำมาก ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ วิธีการขยายพันธุ์ที่ได้ผลดีคือ การทาบกิ่งโดยใช้ต้นจําปาเป็นต้นตอ

ถึงแม้ว่าจําปีช้างจะมีถิ่นกําเนิดอยู่บนภูเขาสูง มีลมพัดแรงและมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี แต่เมื่อขยายพันธุ์และนํามาทดลองปลูกแล้วพบว่า สามารถปลูกให้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งตามพื้นราบในภาคกลางที่ไม่มีน้ำขังแฉะ

อ้างอิง: หมายเหตุนิเวศวิทยา ปีที่2 ฉบับที่1 มกราคม-มีนาคม 2551 โดย ปิยะ เฉลิมกลิ่น, พัชรินทร์ เก่งกาจ, จิรพันธ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

จำปีช้าง Magnolia citrata Noot. & Chalermglin

เป็นเวลาเกือบ10 ปีแล้ว ที่คนไทยได้รู้จักกับจำปีชนิดใหม่ของโลกที่ชื่อ จำปีช้าง จำปีแสนสวยชนิดหนึ่งซึ่งเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย และในธรรมชาติมีสภาพเป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์

แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะของคณะวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งนำทีมโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้แกะรอยการสำรวจเข้าไปจนพบถิ่นกำเนิดของจำปีชนิดนี้ ช่วยให้จำปีช้างซึ่งไม่มีการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติมานานกว่า 50 ปีแล้ว สามารถขยายพันธุ์ได้จนมีจำนวนต้นเพิ่มมากขึ้น และปลูกเป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ

จำปีช้างเป็นพรรณไม้ในวงศ์จำปา (Magnoliaceae) สกุล Magnolia พบได้ในบริเวณป่าดิบเขาที่ระดับความสูงไม่ต่ำกว่า 1,200 ม. ในจังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเลย

สาเหตุที่ได้ชื่อว่าจำปีช้างนั้นก็เป็นเพราะว่า จำปีชนิดนี้มีผลขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับจำปีชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โดยมีขนาดผลยาว 7-8 ซม.

นอกจากนี้ จำปีช้างยังมีลักษณะเด่นอื่นๆ ต่างจากจำปีทั่วไป เช่น ใบมีรูปร่างค่อนข้างกลม ใบใหญ่และหนาคล้ายใบกระท้อน เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีแดง กลิ่นคล้ายตะไคร้แต่ฉุนกว่า จึงเป็นที่มาของชื่อระบุชนิด citrata ซึ่งหมายถึง "ตะไคร้" นั่นเอง

จำปีช้างต้นแรกถูกสำรวจพบบนยอดเขาในเขตอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2533 โดยศาสตราจารย์ ดร.เต็ม สมิตินันท์ ซึ่งในสมัยนั้นเข้าใจว่าเป็นจำปีชนิดเดียวกับจำปีในประเทศจีนที่ชื่อ Michelia tignifera และเรียกชื่อไทยว่า "จำปีดง"

ต่อมาในปี 2541 ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ได้นำพรรณไม้นี้มาตรวจสอบอีกครั้ง ก็พบว่าจำปีช้างเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกซึ่งไม่เคยค้นพบที่ใดมาก่อน และตั้งชื่อใหม่ว่า Magnolia citrata Noot. & Chalermglin มีการรายงานการตั้งชื่อในปี 2551 นี้เอง

จากพรรณไม้ที่ไม่สามารถให้กำเนิดลูกหลานมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ปัจจุบัน จำปีช้างสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการทาบกิ่งโดยใช้จำปาเป็นต้นตอ ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและแหล่งพักผ่อน เช่น รีสอร์ตที่อยู่บนพื้นที่ระดับสูง

รวมทั้งในพื้นที่ราบทั่วไป จำปีช้างส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ช่วงใกล้พลบค่ำ มีกลิ่นหอมแรง แต่น่าเสียดายที่ดอกอันบอบบางบานอยู่เพียงแค่วันเดียวแล้วก็ร่วงโรยในวันถัดไป และออกดอกให้ผู้ปลูกเลี้ยงได้ชื่นใจเพียงแค่ช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมเท่านั้น

ลักษณะพรรณไม้ของจำปีช้าง

ต้นจำปีช้าง เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 25-30 ม. ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งเป็นพุ่มอยู่ที่ยอด เปลือกลำต้นสีเทาอมขาว มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เนื้อไม้และกิ่งเหนียว

ใบจำปีช้างมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ กว้าง 12-18 ซม. ยาว 20-25 ซม. เรียงเวียนรอบกิ่ง รูปรีจนถึงเกือบกลม เนื้อใบหนา เหนียว สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบด้านล่างสีอ่อนกว่า มีเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูนเด่น

ดอกจำปีช้าง เป็นดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ ดอกตูมรูปกระสวย เมื่อแรกแย้มกลีบนอกสุด 3 กลีบจะบานลู่ลง เริ่มส่งกลิ่นหอมแรงตั้งแต่ช่วงเย็น กลีบดอกสีขาวนวล 9-12 กลีบ เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 4-5 ซม. ใกล้โรยกลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน

ผล(ฝัก)จำปีช้าง เป็นผลกลุ่ม ติดอยู่บนแกนช่อผล มีผลย่อย 5-8 ผล แต่ละผลมีขนาดใหญ่ เปลือกหนา เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-7 ซม. ยาว 7-8 ซม. แตกออกเป็น 2 ซีก เมล็ดสีแดงเข้ม รูปกลมรี กว้าง 1.6 ซม. ยาว 1.8 ซม. หนา 4 มม.

การขยายพันธุ์จำปีช้าง จำปีช้างสามารถขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดและทาบกิ่ง ควรขยายพันธุ์และปลูกเพิ่มจำนวนต้นให้มากขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ ในพื้นที่ระดับสูงมีอากาศหนาวเย็นจะเจริญเติบโตและออกดอกได้ดี

อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นลัดดาวัลย์ (ลดาวัลย์) ชอบแดดไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก การขยายพันธุ์ ราคาถูก?

ต้นมั่งมี (เฉียงพร้านางแอ) มั่งมีศรีสุข ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นกระถินณรงค์ แตกต่าง กระถินเทพา ลักษณะ ข้อดี ประโยชน์ วิธีปลูก ขยายพันธุ์?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

ต้นหมันดง, ตังบี้ ลักษณะ ผลสุก รสหวาน มีเมือกเหนียว ประโยชน์ ออกดอกเดือนไหน?

✓ต้นไม้: เงี่ยงดุก (หนามเงี่ยงดุก) ลักษณะ ผลไม้กินได้ สมุนไพร?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ผักคะนองม้า(เต่าเกียด) ลักษณะ ประโยชน์ ยอดอ่อน กินได้ เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก ลาบ?

มวนนักกล้าม แมลงศัตรูพืชตระกูลถั่ว ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วฝักยาว?