✓ต้นไม้: โฮย่าบาลา Hoya balaensis พบที่ป่าบาลา นราธิวาส?
โฮย่าบาลา เป็นโฮย่าพื้นเมืองของไทย ซึ่งตั้งชื่อตามสถานที่พบคือ "ป่าบาลา" จังหวัดนราธิวาส มีถิ่นที่อยู่อาศัยคือพบอิงอาศัยอยู่บนต้นไม้ริมลำธาร ในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ 200 เมตร
โฮย่าบาลา Hoya balaensis
โฮย่าบาลา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hoya balaensis Kidyoo & Thaithong, คำระบุชนิดว่า balaensis (อ่านว่า บาลาเอ็นสิส) หมายถึง พบที่บาลา นั่นเอง
- ชั้น (Clade/Class) : Mesangiosperms
- ชั้นย่อย (Clade/Subclass) : Asterids
- กลุ่ม (Group) : Spermatophytes
- อันดับ (Order) : Gentianales
- วงศ์ (Family) : Apocynaceae
- วงศ์ย่อย (Subfamily) : Asclepiadoideae
- สกุล (Genus) : Hoya
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นโฮย่าบาลา ไม้เลื้อยอิงอาศัย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่กว้าง ปลายเรียวแหลมสั้นๆ โคนกึ่งรูปหัวใจถึงรูปหัวใจ ขอบม้วนลงแคบๆ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านล่างมีปุ่มเล็กกระจายทั่วไป
ดอกโฮย่าบาลา ดอกออกเป็นช่อดอกมี 10-49 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง แยกเป็นแฉกลึก รูปไข่ ปลายแหลม มีต่อม 5 ต่อม เรียงสลับกับกลีบเลี้ยง
กลีบดอกสีขาวนวลถึงสีขาวอมเหลือง ผิวด้านในมีปุ่มเล็ก แฉกกลีบดอกรูปไข่ ปลายแหลม โค้งลงเมื่อบานเต็มที่ รยางค์ประดับรูปใบหอกแกมรูปไข่ กลุ่มอับเรณูรูปขอบขนานเบี้ยว
- วันที่เก็บตัวอย่าง: 21/07/2004
- ตัวอย่างต้นแบบ: M. Kidyoo 303 (holo BCU; iso L)
- ปีที่ตีพิมพ์: ปี 2550
เอกสารอ้างอิง
- Kidyoo, M. & Thaithong, O. 2007. “A New Species of Hoya (Asclepiadaceae) from Southern Thailand”. Blumea 52: 327–330.
อ้างอิง : ข้อมูลและภาพ จาก พิพิธภัณฑ์พืช ศ.กสิน สุวตะพันธุ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย