ต้นมหาพรหมราชินี ไม้มงคลดอกหอม ประวัติความเป็นมา สรรพคุณ วิธีปลูก ออกดอก?
ข้อมูล ต้นมหาพรหมราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ สกุลมหาพรหม ในวงศ์กระดังงา ดอกไม้หอม ลักษณะ ดอกมหาพรหมราชินี วิธีการปลูกให้ออกดอก การขยายพันธุ์ ราคา...
มหาพรหมราชินี
มหาพรหมราชินี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin & R. M. K.Saunders วงศ์ Annonaceae
เมื่อปี 2547 ประเทศไทยได้ประกาศการค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระนามาภิไธย เป็นชื่อระบุชนิดพืชชนิดใหม่นี้ว่า sirikitiae
และใช้ชื่อภาษาไทยว่า "มหาพรหมราชินี" เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา อันถือเป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย
Photo by
พรรณไม้เกียรติประวัติของไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า
และพันธุ์พืช
มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้ในวงศ์กระดังงา(Annonaceae) สกุลมหาพรหม (Mitrephora) ดอกมีขนาดใหญ่สีขาวและม่วงสวยงามมาก และมีขนาดใหญ่ที่สุด ในสกุลมหาพรหมซึ่งมีอยู่ทั่วโลก 48 ชนิด ในประเทศไทยที่สำรวจพบแล้วมี 7 ชนิด โดยมีมหาพรหมราชินี เป็นชนิดที่ 8
มหาพรหมราชินีจึงเป็นดอกไม้ที่ประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ ถึงความยิ่งใหญ่ของไม้ดอกที่งดงามและมีชื่อตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแห่งประเทศไทย ถิ่นกำเนิดของมหาพรหมราชินีอยู่บนสันเขาแคบๆ บริเวณยอดเขาสูงชันเหนือระดับน้ำทะเล 1,100 ม. ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว ที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และยังจัดเป็นพรรณไม้หายากเนื่องจากจำนวนต้นในถิ่นกำเนิดน้อยมาก และมีการกระจายพันธุ์ต่ำ ผู้ที่ค้นพบพรรณไม้ชนิดนี้คือ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ซึ่งได้ทำการวิจัยและพัฒนาแล้วพบว่า มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้ที่มหัศจรรย์มากชนิดหนึ่ง ที่แม้จะมีถิ่นกำเนิดอยู่บนเขาหินปูน ในระดับความสูง 1,100 ม. ที่มีอากาศหนาวเย็น มีต้นสูง 3-5 ม.
แต่เมื่อนำเมล็ดมาเพาะในกรุงเทพฯ ที่มีอากาศร้อนจัด ก็สามารถปรับตัวได้โดยใช้เวลาปลูกเลี้ยง 3 ปี มีความสูง 1.5 ม. ก็ออกดอกได้เกือบตลอดปี ปัจจุบันได้พัฒนาให้เป็นไม้ประดับกระถาง ซึ่งมีการปลูกกันทั่วประเทศ ช่วยให้พ้นสภาพจากการเป็นพรรณไม้หายากได้แล้ว
มหาพรหมราชินีเมื่อออกดอกจะบานพร้อมกันทั้งต้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และแต่ละดอกบานอยู่ได้ 1-2 วัน ช่วงเวลาดอกบานราวเดือนพฤษภาคม ต้นที่ปลูกจากต้นกล้าเพาะเมล็ดจะมีทรงพุ่มสวยงาม ออกดอกได้เต็มทรงพุ่ม ขณะที่ต้นที่ปลูกจากต้นทาบกิ่ง จะมีทรงพุ่มแผ่กระจายและออกดอกเฉพาะกิ่งที่อยู่ด้านบนทรงพุ่ม
ลักษณะพรรณไม้ของมหาพรหมราชินี
ต้นมหาพรหมราชินี มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 3-5 ม. เปลือกลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเทาอมขาวมีขนอ่อนปกคลุม แตกกิ่งน้อย ทรงพุ่มกลมโปร่ง ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปใบหอก กว้าง 4-9 ซม. ยาว 11-19 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบ เป็นมันทั้งสองด้าน ด้านล่างมีขน เส้นแขนงใบ 8-11 คู่ ก้านใบยาว 0.5-1 ซม.
ดอกมหาพรหมราชินี ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก 1-3 ดอกใกล้ปลายยอด กลีบดอกมี 6 กลีบ เรียงกลีบสองชั้น เมื่อดอกบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ดอกดกทยอยบาน แต่ละดอกบานอยู่ได้ 1-2 วัน
ผลมีลักษณะเป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 5-8 ผล รูปทรงกระบอก ยาว 5-8 ซม. มีเมล็ด 13-21 เมล็ด ลักษณะเมล็ด รูปคล้ายไข่หรือทรงกลม สีน้ำตาล ขนาด 5-8 มม.
การขยายพันธุ์มหาพรหมราชินี มีการนำผลแก่มาเพาะเมล็ดซึ่งงอกได้ดี ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ การทาบกิ่ง เนื่องจากเป็นวิธีการที่รวดเร็ว สะดวก ประหยัด และสามารถกำหนดให้กิ่งทาบมีความยาวได้ตามความต้องการ ตั้งแต่ความสูง 30 ซม. จนถึง 150 ซม. โดยใช้ระยะเวลาทาบเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น มีอัตราการทาบติดได้สูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์
อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552
"มหาพรหมราชินี" พรรณไม้พระราชทานนาม
พรรณไม้ในพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นแม่ฟ้าหลวงของแผ่นดินไทย ทรงมีความสนพระทัยในด้านการอนุรักษ์พรรณไม้ชนิดต่างๆ
อีกทั้งทรงพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อพรรณไม้แต่ละชนิด ที่มีการค้นพบครั้งแรกในโลก อาทิ มหาพรหมราชินี (Mitrephora sirikiteae Weersooriya, Chalermglin & R.M.K. Saunders) และ โมกราชินี (Wrightia sirikitiae D.J. Middleton & Santisuk)
มหาพรหมราชินี จัดอยู่ในสกุลมหาพรหม (Genus Mitrephora) วงศ์กระดังงา (Annonaceae Family) สำรวจพบครั้งแรกโดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2546 จากอุทยานแห่งชาติแม่สุรินทร์ บ้านห้วยฮี้ ต.ห้วยปูลิง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในระดับความสูง 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเล และเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย (Endemic of Thailand)
พรรณไม้สกุลนี้พบในเมืองไทยประมาณ 8 ชนิด ทั้งโลกมีรายงานพบมากกว่า 40 ชนิด แต่มหาพรหมราชินีเป็นชนิดที่มีขนาดดอกใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ มหาพรหมราชินี ตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ ในวันที่12 สิงหาคม พ.ศ.2547
ลักษณะทั่วไป จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ทรงต้นสวย ความสูงลำต้นเมื่อเติบโตเต็มที่ 3-5 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาล ใบเดี่ยวเรียงสลับ ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน ปลายใบแหลม
ดอกเดี่ยว บางครั้งออกเป็นกระจุก ดอกสีขาว มีลักษณะคล้ายโคมคว่ำ ขนาด 8-10 เซนติเมตร จำนวน 6 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกสีขาว มี 3 กลีบ ลักษณะกางออก ปลายกลีบโค้งเล็กน้อย กลีบดอกชั้นในสีม่วงแดง มี 3 กลีบ บริเวณปลายกลีบทั้ง 3 เชื่อมติดกัน ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกบานเต็มที่ประมาณ 2-3 วัน
วิธีปลูก
มหาพรหมราชินี ถูกนำมาขยายพันธุ์เพื่อปลูกเลี้ยงนอกถิ่นกำเนิด โดยวิธีการเพาะเมล็ด แต่การเพาะเมล็ดค่อนข้างยาก เนื่องจากเมล็ดมีอัตราการงอกต่ำมาก จึงได้มีการขยายพันธุ์โดยวิธีเสียบยอด หรือ ทาบกิ่ง ซึ่งได้ผลดีกว่า เนื่องจากโตเร็ว และสามารถออกดอกได้เร็วกว่าต้นที่เพาะเมล็ด
โดยนำยอดมหาพรหมราชินีมาเสียบกับต้นตอมะป่วน (มะป่วนเป็นพืชสกุลเดียวกันมีเมล็ดมาก งอกง่าย และมีการกระจายพันธุ์ทั่วไป ต้นตอเหล่านี้ เป็นต้นกล้าที่ได้มาจากการเพาะเมล็ด จึงมีระบบรากที่แข็งแรง)
ต่อมาภายหลังได้มีการปลูกเลี้ยงมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่งเพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ขนาดใหญ่ สามารถนำไปปลูกเลี้ยงได้เร็วกว่า ทั้งนี้การปลูกเลี้ยงมหาพรหมต้องคำนึงถึงปริมาณแสงแดด
เนื่องจากการปลูกกลางแจ้ง แสงแดดอาจทำให้ใบเหลืองและขอบใบแห้งได้ แต่จะมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกมากกว่าการปลูกเลี้ยงในที่ร่ม ส่วนระบบการให้น้ำจัดว่าเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากมหาพรหมราชินี ถ้าขาดน้ำจะทำให้ใบไม้ร่วง (ผลัดใบ) ทรงพุ่มไม่สวย แต่ถ้าให้น้ำมาก (แฉะเกินไป) อาจทำให้ระบบรากเน่าได้
อย่างไรก็ตามต้องหมั่นตรวจสอบและตัดแต่งกิ่งที่เจริญหรือแตกออกมาจากบริเวณโคนต้นตอทิ้ง เนื่องจากต้นตอเป็นพืชต่างชนิดกับมหาพรหมราชินี ดังที่กล่าวมากข้างต้น อาจส่งผลให้ยอดของมหาพรหมไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด
สรรพคุณ
สำหรับสรรพคุณทางยา ขณะนี้ยังไม่ได้ทำวิจัยออกมาเพียงแต่แยกดีเอ็นเอในสายพันธุ์ และกำลังตรวจหาสารที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
อ้างอิง: จดหมายข่าว วว. ฉบับที่ 8 / สิงหาคม 2559 ปีที่ 19 โดย ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)