ต้นลำดวนแดง ปลูกในบ้าน ออกดอกได้ไหม แตกต่างกับดอกลำดวนธรรมดา ยังไงบ้าง?
ลำดวนแดง คืออะไร
ในอดีต "ลำดวนแดง" เป็นพรรณไม้ที่มีต้นแม่พันธุ์อยู่เพียงต้นเดียว ในโรงเรียนประชาพัฒนศึกษา อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเกิดมาจากการกลายพันธุ์ของต้นลำดวนที่มีดอกสีเหลือง
จึงนับเป็นพรรณไม้แปลกประหลาด ทำให้มีความพยายามขยายพันธุ์ ทั้งโดยวิธีการเพาะเมล็ด และการทาบกิ่ง โดยใช้ลำดวนดอกเหลืองเป็นต้นตอ
ผลปรากฏว่า การขยายพันธุ์ทั้งสองวิธีได้ผลดี มีจำนวนต้นเพิ่มมากขึ้น และได้รับความนิยมในการนำไปปลูกทั่วประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถพบเห็นต้นลำดวนแดงได้ทั่วไป
ลำดวนแดง แตกต่างกับ ลำดวน (ธรรมดา)
หากใครที่คิดจะปลูกต้นลำดวนแดง แต่ยังไม่ทราบวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างลำดวนแดงกับลำดวนที่มีดอกเหลืองตามปกติ ก็สามารถสังเกตดูได้จาก "ดอกลำดวน"
เนื่องจากสีดอกลำดวนทั้งสองจะแตกต่างกัน แต่หากไม่ได้อยู่ในช่วงฤดูออกดอก ก็สามารถสังเกตได้จากลักษณะรูปร่างของใบ
โดยลำดวนธรรมดามีใบรูปขอบขนานเรียวยาว เนื้อใบหนา และด้านล่างของใบมีนวลสีขาวฉาบอยู่ ขณะที่ลำดวนแดงมีใบรูปรี ขนาดใบใหญ่กว่าลำดวนธรรมดา และด้านล่างของใบมีนวลขาวฉาบอยู่เพียงเล็กน้อย
แม้ลำดวนแดง กับ ลำดวนธรรมดา จะมีสีดอกและลักษณะใบแตกต่างกัน แต่ในการจำแนกทางพฤกษศาสตร์ ยังคงจัดให้ลำดวนทั้งสอง มีชื่อวิทยาศาสตร์เป็นต้นเดียวกันอยู่
ต้นลำดวนแดง ออกดอก ช่วงไหน
ต้นลำดวนแดง มีช่วงฤดูดอกบานอยู่ในเดือนมกราคมถึงเมษายน ปัจจุบันจากการที่มีการปลูกลำดวนแดงเป็นไม้ประดับตามบ้านมากขึ้น ก็พบว่าลำดวนแดงมีช่วงฤดูออกดอกนานมากขึ้น บางครั้งจะออกดอกหลังเดือนเมษายน และมีโอกาสทยอยออกดอกในเดือนอื่นๆ ได้อีก
ขณะที่ลำดวนดอกเหลือง หรือลำดวนธรรมดา จะออกดอกเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมเท่านั้น ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการที่ผู้ปลูกมีการรดน้ำและใส่ปุ๋ยลำดวนแดงอยู่ตลอดเวลา ทำให้พฤติกรรมการออกดอกของต้นลำดวนแดงที่ปลูกอยู่เปลี่ยนแปลงไป
ลำดวนแดง ชื่อวิทยาศาสตร์
ลำดวนแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่ Sphaerocoryne lefevrei 'Lamduan Daeng' ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ มาจาก ลำดวน Sphaerocoryne lefevrei (Baill.) D. M. Johnson & N. A. Murray จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (Annonaceae)
ลำดวน เดิมเคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melodorum fruticosum Lour. ซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1790 ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ถูกต้อง ความผิดพลาดเกิดจากนักพฤกษศาสตร์ในยุคก่อน ๆ
คาดว่าจะเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ระบุชื่อพฤกษศาสตร์ลำดวนผิด แล้วใช้ชื่อที่ผิดนี้กันอย่างแพร่หลายในภูมิภาคอินโดจีนและไทย แม้แต่ลำดวน (Romduol) ที่กัมพูชายกให้เป็นพรรณไม้ประจำชาติก็ใช้ชื่อพฤกษศาสตร์นี้
ต่อมา ดร.David Mark Johnson และ ดร.Nancy A. Murray นักพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัย Ohio Wesleyan สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาโดยละเอียดและให้ชื่อพฤกษศาสตร์ของลำดวนใหม่ว่า Sphaerocoryne lefevrei (Baill.) D.M.Johnson & N.A.Murray
ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข lefevre 532 เก็บจากเวียดนาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2408 คำระบุชนิด "lefevrei" ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นาย Édouard Lefèvre นักพฤกษศาสตร์และนักกีฏวิทยาชาวฝรั่งเศส
ลำดวน พบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ ต่างประเทศพบที่กัมพูชา ลาว เวียดนาม ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบหมายเลข lefevre 32 เก็บจาก Biên Hòa เวียดนาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2408 อ้างอิงจาก Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 49(2) หน้า 170 ค.ศ. 2021
สำหรับชื่อ Melodorum fruticosum Lour. นั้น แท้จริงแล้วเป็นชื่อพ้องของ "ต้นนมแมว" ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่ ที่ถูกต้องว่า Uvaria siamensis (Scheff.) L. L. Zhou, Y. C. F. Su & R. M. K. Saunders (ในไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับชื่อพ้อง Rauwenhoffia siamensis Scheff.) ซึ่งต่างชนิดกันกับลำดวน
ลักษณะ ลำดวนแดง
ต้นลำดวนแดง
ต้นลำดวนแดง มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม สูง 5 ม. เปลือกลำต้นเรียบ สีดำ เนื้อไม้แข็งและเหนียว และมีกลิ่นฉุน แตกกิ่งที่ปลายยอดจำนวนมาก
ใบลำดวนแดง
ลักษณะใบลำดวนแดง เป็นใบเดี่ยวรูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3-3.5 ซม. ยาว 6-12 ซม. โคนใบมน ปลายเรียวแหลมมีติ่ง ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนาเป็นมันทั้งสองด้าน ใบด้านบนสีเขียวเข้ม ใบด้านล่างสีอ่อนกว่า
ดอกลำดวนแดง
ดอกลำดวนแดง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง เมื่อเริ่มบานกลีบดอกมีสีพื้นเป็นสีเหลืองนวล ปลายกลีบด้านในมีสีม่วงแดงเข้ม มีกลิ่นหอม กลีบดอกชั้นนอก 3 กลีบ รูปไข่ บานกางออก กลีบนอก ชั้นในประกบกันเป็นรูปกลม
ผลลำดวนแดง
ลักษณะผลลำดวนแดง เป็นแบบผลกลุ่ม มีผลย่อย 20-35 ผล ผลรูปรี ผลอ่อนเปลือกเรียบ สีเขียวเข้มเป็นมัน เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีม่วงอมดำ มี 1 เมล็ด ลักษณะเมล็ด กลมรี สีขาว ยาว 5-8 มม.
ต้นลำดวนแดง ปลูกในบ้านได้ไหม
ต้นลำดวนแดง สามารถนำมาปลูกภายในบริเวณบ้านได้ ถ้าพื้นที่จัดสวนในบ้านยังมีบริเวณพื้นที่ที่มากพอ เพราะต้นลำดวนแดง มีลักษณะเป็นพุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ต้นจะไม่เติบโตสูงใหญ่มากเกินไปนัก
จากที่บอกไปแล้วว่า ต้นลำดวนแดง เกิดมาจากการกลายพันธุ์จากลำดวนธรรมดา ดังนั้น ต้นลำดวนแดง จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยวิธีการไม่อาศัยเพศเท่านั้น เช่น การตอนกิ่ง ทาบกิ่ง หรือ เสียบยอด เท่านั้น เพื่อให้คงลักษณะดอกสีแดงเอาไว้
เพราะถ้าหาก ปลูกจากต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด อาจจะกลับไปเป็นแบบเดิม คือเมื่อเติบโตขึ้นมาจนออกดอกได้แล้ว ดอกอาจมีสีเหลืองแบบลำดวนธรรมดาทั่วไปได้
ดังนั้น การปลูกต้นลำดวนแดง จะปลูกในกระถาง หรือปลูกลงดินก็ได้ เนื่องจากกิ่งตอน หรือต้นทาบกิ่ง ต้นจะไม่สูงใหญ่มาก และสามารถออกดอกได้เร็วกว่าต้นที่เพาะเมล็ด
จึงสามารถปลูกต้นลำดวนแดง ให้ออกดอกในกระถางได้ ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าต้นเติบโตมากขึ้น ก็ควรเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
ยิ่งถ้าหมั่นตัดแต่งกิ่ง ก็จะยิ่งทำให้มีทรงพุ่มที่สวยงาม และยังส่งผลช่วยให้ออกดอกได้ดกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
วิธีปลูกต้นลำดวนแดง ให้ออกดอก
ต้นลำดวนแดงชอบดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ควรปลูกไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ กลางแจ้ง หรือ ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดครึ่งวัน
หรือหากมีพื้นที่จำกัด ก็สามารถปลูกในบริเวณร่มรำไรก็ได้ ก็ยังพอจะออกดอกได้บ้าง แต่จะออกดอกน้อยกว่าต้นลำดวนแดงที่ปลูกไว้ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดเต็มที่