✓ต้นไม้: 'จำปีรัชนี' (จำปีหลวง) จำปีพื้นเมืองของไทย ไม้มงคล?
สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจที่อยากชื่นชม ดอกจำปีรัชนี อาจต้องหาโอกาสไปเยือนภาคเหนือ เนื่องจากจำปีรัชนีเป็นพรรณไม้หายากที่พบเฉพาะภาคเหนือของไทย ชอบขึ้นตามไหล่เขาบริเวณป่าดิบเขาค่อนข้างโปร่ง ในระดับความสูง 900-1,300 ม. ชอบอากาศหนาวเย็นและมีความชื้นสูง ทนทานต่อลมพัดรุนแรงได้ดี ...
จำปีรัชนี, จำปีหลวง
จำปีรัชนี หรือจำปีหลวง สำรวจพบครั้งแรกโดยหมอคาร์ ชาวไอริช เมื่อเดือนพฤษภาคม 2464 จากดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในป่าดิบเขา ระดับความสูง 1,300 ม.
ภาพ :
Hybrid Plants Thailand by 'Purk'
จำปีรัชนี (จำปีหลวง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia rajaniana (Craib) Figlar วงศ์จำปี Magnoliaceae
คำระบุชนิด rajaniana ตั้งขึ้นให้เป็นเกียรติแก่ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ต้นสกุลรัชนี ผู้ทรงกำกับดูแลกิจการของกองตรวจพันธุ์รุกขชาติ ในยุคบุกเบิกงานสำรวจพรรณไม้ในประเทศไทย มีรายงานการตีพิมพ์เปลี่ยนชื่อเป็นชื่อนี้ในปี 2543
จำปีรัชนีจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ออกดอกดกพร้อมกันเต็มต้น แล้วกลีบดอกจะร่วงพรูเต็มใต้ต้น ส่งกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่วแนวป่า
พบเห็นได้ง่ายบริเวณใกล้วัดพระธาตุดอยสุเทพ หรือบริเวณถ้ำฤาษีที่อยู่ริมถนนบนดอยสุเทพของจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนผลจะแก่เต็มที่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ดังนั้น ใครที่ตั้งใจไปชื่นชมและหวังจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึก จึงต้องไปให้ตรงช่วงเวลาดังกล่าว
ปัจจุบันจำปีรัชนีได้รับการจัดเป็นพืชถิ่นเดียว และ พืชหายากของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา ลำปาง แพร่ น่านและแม่ฮ่องสอน
ควรเร่งขยายพันธุ์และอนุรักษ์ด้วยการนำมาปลูกเพื่อให้ร่มเงาและปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารบ้านเรือน เพื่อให้พ้นจากสภาพพืชหายาก
มีการเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้ามาปลูกเป็นไม้ปลูกป่าบนพื้นที่ระดับสูงตามหน่วยพัฒนาต้นน้ำของภาคเหนือตอนบน เป็นจำปีที่เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ออกดอกดกและติดผลได้เป็นจำนวนมาก
ได้มีงานทดลองวิจัยปลูกและบำรุงรักษาจำปีรัชนีในพื้นราบที่มีอากาศร้อนจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดโดยรอบ พบว่าจำปีรัชนีเจริญเติบโตช้า มีกิ่งแห้งตายมาก และไม่ชอบดินเปรี้ยวจัด
ลักษณะพรรณไม้ของจำปีรัชนี (จำปีหลวง)
ต้นจำปีรัชนี มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงได้ถึง 25-35 ม. ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน หนา มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เปลือกแตกเป็นร่องตื้นๆ ตามยาว
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง 10-13 ซม. ยาว 17-30 ซม. ปลายใบมนหรือตัด โคนใบหยักเว้า มน หรือกลม
แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่มยาวปกคลุมหนาแน่น ใบอ่อนนุ่มสากมือ ใบแก่แข็งกรอบ เส้นแขนงใบและเส้นกลางใบเป็นร่องตื้น ที่ด้านบนของใบและเป็นสันนูนที่ด้านล่างของใบ มีรอยหูใบเด่นชัดยาวสามในสี่ของความยาวก้านใบ
ดอกจำปีรัชนี มีขนาดใหญ่กว่าดอกจำปีหรือจำปาธรรมดาทั่วไป ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ บนกิ่งด้านข้าง มีกลิ่นหอม
ดอกตูมรูปกระสวย กลีบรวมสีขาวอมเหลือง ยาว 2.5-3.5 ซม. มี 12-15 กลีบ เรียงเป็นรูปวง วงละ 3 กลีบ กลีบวงนอกกว้างกว่ากลีบวงใน เกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่จำนวนมาก แต่ละอันเรียงเวียนสลับบนแกนยาว
ผลจำปีรัชนี ออกเป็นผลกลุ่ม ช่อผลยาว 15-20 ซม. มีผลย่อย 12-30 ผล แต่ละผลรูปไข่ค่อนข้างยาว กว้าง 1.5 ซม. ยาว 2-3 ซม. ผิวของผลมีช่องอากาศเป็นจุดนูนสีขาว ผลย่อยแตกตามแนวยาว แต่ละผลมี 1-6
เมล็ด ลักษณะเมล็ด สีแดงเข้ม รูปรี ยาว 1-1.4 ซม.
การขยายพันธุ์จำปีรัชนี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและทาบกิ่ง สามารถใช้จำปาเป็นต้นตอทาบกิ่งได้ ติดภายใน 6 สัปดาห์
อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552