มณฑาดอย ไม้ดอกหอมในวงศ์จำปี แมกโนเลียของไทย หายาก?
มณฑาดอย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ที่มีลักษณะเด่น ทั้งในด้านของการเป็นพรรณไม้ดอกที่มีกลิ่นหอมแรง สีสันสวยงาม มีดอกขนาดใหญ่กว่ามณฑาและขึ้นอยู่บนภูเขาตามดอยต่างๆ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่พบเห็น จึงเป็นที่มาของชื่อ มณฑาดอย ส่วนชื่ออื่นที่คนเรียกกันบ้างก็คือ ตองแข็ง, บุณฑา, บุณฑาดอย
มณฑาดอย
มณฑาดอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia hodgsonii (Hook.f. & Thomson) H.Keng วงศ์ Magnoliaceae เป็นพรรณไม้วงศ์จำปาที่มีการกระจายพันธุ์ในป่าดิบเขาและป่าดิบชื้น ตามริมลำธาร
และในหุบเขา ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 660-1,300 ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว และเวียดนาม มีการค้นพบมณฑาดอยครั้งแรกในประเทศไทย บนดอยสูงทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่
แต่ต่อมาก็พบบนดอยที่ต่ำลงมาในจังหวัดอื่นๆ เช่น แม่ฮ่องสอน ตาก จนกระทั่งพบบนเนินเขาที่ไม่สูงนักในอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศ แต่ก็ยังคงสภาพความงามของดอกที่ทั้งใหญ่ สวยงามและมีกลิ่นหอม
ต้นมณฑาดอยเป็นพรรณไม้ที่มีทรงพุ่มกลม ค่อนข้างแน่นทึบ เนื่องจากมีใบขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงา บังลม หรือโชว์ทรงพุ่มได้ดี แต่ในขณะนี้ได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับที่มีดอกหอม และสวยงาม เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ระดับสูง ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า หากปลูกจำนวนมากให้เป็นลานกว้าง สามารถใช้เป็นสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เป็นสัญลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากมีดอกใหญ่และกลิ่นหอมแรง
เมื่อผู้คนจากภาคกลางได้ไปท่องเที่ยวตามดอยต่างๆ ในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนเมษายน ได้พบเห็นดอกมณฑาดอยขนาดใหญ่ สวยงาม และส่งกลิ่นหอม ได้ชื่นชมแล้วรู้สึกประทับใจ มีการนำเมล็ดหรือต้นกล้าลงมาปลูกในพื้นราบภาคกลาง รวมทั้งในกรุงเทพฯ ปลูกกันมานานกว่า 10 ปี จนต้นเป็นพุ่มใหญ่ แต่ก็ต้องคอยเก้อเนื่องจากมณฑาดอยไม่ออกดอกในพื้นราบ
ลักษณะพรรณไม้ของมณฑาดอย
ต้นมณฑาดอย มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-15 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมค่อนข้างโปร่ง เปลือกสีเทาปนน้ำตาล มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เนื้อไม้และกิ่งเหนียว ใบมีขนาดใหญ่มาก รูปไข่กลับ หรือรูปขอบ ขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 6.5-12 ซม. ยาว 19-45 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบและเป็นคลื่น แผ่นใบเรียบทั้งสองด้าน ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีอ่อนกว่า เนื้อใบหนา แข็ง กรอบ
ดอกมณฑาดอย ออกเดี่ยวที่ปลายยอด ดอกบานตั้งขึ้น มีกลิ่นหอมแรง ดอกบาน 2-5 วัน ดอกตูมรูปกลมรี กว้าง 3-4 ซม. ยาว 5-7 ซม. กลีบดอก 9 กลีบ เรียงเป็น 3 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกสุดรูปช้อน กว้าง 4-5 ซม. ยาว 8-10 ซม. กลีบดอกชั้นในจะเป็นสีขาวนวล ด้านนอกกลีบสีม่วงอมเขียว ขอบกลีบห่อเป็นกระพุ้ง ปลายกลีบห้อยลง กลีบดอกชั้นกลางและชั้นในสุดมีขนาดใกล้เคียงกัน โคนกลีบเรียวแคบ ปลายกลีบห่อซ้อนกันเข้าหากลางดอก กลีบสีขาวนวล หนาและฉ่ำน้ำ
ผลมณฑาดอย มีลักษณะเป็นรูปรี กว้าง 5.5-7.5 ซม. ยาว 8-10 ซม. มีผลย่อย 80-100 ผล เปลือกผลย่อยหนาและเชื่อมติดกัน แต่ละผลรูปรี กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. ปลายผลเป็นจะงอย เปลือกผลสีเขียวอ่อน เมื่อผลแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผลย่อยแตกตามรอยเชื่อมและหลุดออก เหลือเมล็ดสีแดงเข้มติดอยู่กับช่องแกนผล ช่องละ 2 เมล็ด มีลักษณะเมล็ด กลมรี สีแดงเข้ม ยาว 1 ซม.
การขยายพันธุ์มณฑาดอย สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด แล้วปลูกในพื้นที่ระดับสูง ในที่ร่มรำไรที่มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น