มณฑาป่า (มณฑาดอย) ไม้ดอกหอมไทย ลักษณะ ดอกใหญ่ ดอกสีแดงเข้ม วิธีปลูก?
คนไทยส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกับมณฑา ซึ่งเป็นพรรณไม้ชนิดหนึ่งในสกุล Magnolia ที่มีดอกสวยงามน่ารัก อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมหวานรวยรื่น เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้รักไม้ดอกหอมทุกท่าน หากทว่าในราวป่าบนเขาสูงทางภาคเหนือ ยังมีมณฑาอีกชนิดหนึ่งที่มีดอกสีม่วงแดง ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ในเวลากลางคืนที่เรียกว่า "มณฑาป่า"
มณฑาป่า
มณฑาป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia garrettii (Craib) V.S.Kumar วงศ์จำปี Magnoliaceae มีชื่ออื่นว่า มณฑาดอย, มะองนก, ปอนาเตอ เป็นพรรณไม้หายากอีกชนิดหนึ่งของไทย ที่ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นไม้ประดับจนพ้นสภาพของความเป็นไม้หายากแล้ว
มณฑาป่า ถูกค้นพบครั้งแรกของโลกในประเทศไทย โดย H.B.G. Garrett นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษที่ดอยผ้าขาว จังหวัดเชียงใหม่
มีรายงานเมื่อปี 2465 ว่ามณฑาป่านี้เป็นไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะภาคเหนือของไทยในป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 1,000-1,900 ม. ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และในเวียดนาม
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ดอกสีม่วงแดงของมณฑาป่า ในบางครั้งก็สร้างความสับสนให้แก่นักสำรวจและจำแนกพรรณไม้ เนื่องจากยังมีมณฑาอีกชนิดหนึ่งที่มีดอกสีม่วงแดงและมีลักษณะดอกคล้ายคลึงกันมาก เรียกว่า "มณฑาดอย" พรรณไม้สองชนิดนี้มีกลีบชั้นนอกสีม่วงแดงเหมือนกัน เมื่อมองดูเผินๆ จึงคิดว่าเป็นพรรณไม้ชนิดเดียวกัน
แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า มณฑาป่าจะมีกลีบดอกชั้นในเป็นสีม่วงเข้มเช่นเดียวกับกลีบดอกชั้นนอก ขณะที่มณฑาดอย กลีบดอกชั้นในจะเป็นสีขาวนวล และกลิ่นหอมแรงกว่ามณฑาป่า
ส่วนใบของมณฑาดอยก็มีขนาดใหญ่และยาวกว่า ยาวประมาณ 1 ศอก วิธีสังเกตความแตกต่างอย่างง่ายๆ จึงให้ดูที่ขนาดของใบและกลีบดอกชั้นในซึ่งมีสีที่แตกต่างกัน
มณฑาป่าเป็นพรรณไม้ที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะมีเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อน แต่ชาวบ้านก็ยังตัดโค่นมาใช้ในงานก่อสร้าง และใช้ทำเครื่องเรือนบางชนิด ทำให้ในธรรมชาติมีจำนวนต้นเหลืออยู่ไม่มากนัก
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายๆ หน่วยงานจึงได้เร่งขยายพันธุ์และส่งเสริมให้ปลูกเป็นไม้ประดับบนพื้นที่ระดับสูง เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
นอกจากนี้ มณฑาป่ายังมีชื่ออยู่ในโครงการปลูกทดแทนป่าที่เสื่อมโทรมในพื้นที่สูงอย่างได้ผลดี เนื่องจากมณฑาป่าเป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ป่ากลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่งได้ในเวลาไม่นานนัก
ลักษณะพรรณไม้ของมณฑาป่า
ต้นมณฑาป่า มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ขนาดใหญ่ สูง 20-25 ม. เปลือกหนา สีเทา มีกลิ่นฉุน ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 18-30 ซม. ปลายใบเรียวแหลม หรือแหลมสั้นๆ เนื้อใบหนา เหนียว คล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมันวาว ด้านล่างเคลือบขาว
ดอกมณฑาป่า ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามปลายกิ่ง ดอกสีม่วงอมแดง ดอกมี 9 กลีบ กลีบหนา แข็ง อวบน้ำ เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8-10 ซม. ดอกบาน 2-3 วัน ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
ผล(ฝัก)เป็นผลกลุ่มรูปไข่หรือทรงกระบอก สีน้ำตาล กว้าง 6-8 ซม. ยาว 7-12 ซม. ผลแก่ห้อยลง มีผลย่อยจำนวนมากเรียงกันอยู่บนแกนยาวอันเดียวกัน ผลย่อยแข็ง ยาว 1-1.5 ซม. เมล็ดสีแดง ลักษณะเมล็ดยาวรีและค่อนข้างแบน ขนาด 0.7-1 ซม. ผลย่อยแต่ละผลมี 1-4 เมล็ด ผลแก่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน
การขยายพันธุ์ต้นมณฑาป่า สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยปลูกลงในแปลงที่ร่มรำไรหรือกลางแจ้งบนพื้นที่ระดับสูงที่มีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น
เนื่องจากมีผู้ที่ชื่นชอบความสวยงามของดอกมณฑาป่า ได้พยายามนำต้นมณฑาป่ามาปลูกในกรุงเทพฯ และในพื้นที่ราบภาคกลาง ซึ่งมีอากาศร้อนจัด ซึ่งพบว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จในการปลูกเลี้ยง เนื่องจากต้นมณฑาป่าชะงักการเจริญเติบโตในช่วงฤดูร้อน และค่อยๆ ตายไป
อ้างอิง : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552
Distribution : Thailand, China South-Central, Vietnam
Synonyms : Manglietia garrettii Craib
First published in Kew Bull. 61: 184 (2006)
แสตมป์ มณฑาป่า แมกโนเลียไทย ไม้ดอกหอมไทย พ.ศ.2532 (ปี ค.ศ.1989) สกุลเดิม ชื่อเดิม Manglietia ชื่อปัจจุบัน สกุลใหม่ Magnolia
สมัยนี้ "แสตมป์" ถูกลดบทบาท ลงไปเยอะ เราใช้ email, chat, sms, Line กันมากขึ้น แต่แสตมป์ก็เล่าเรื่องราวในอดีต ได้ดีครับ เป็นหลักฐานบันทึกประวัติศาสตร์ได้ชัดเจน แสตมป์นี้คือ "มณฑาป่า" มีเรื่องราวน่าสนใจอย่างไรบ้าง? ... ติดตามกันต่อไปเลยครับ เราจะคุ้ยข้อมูลมาเล่าให้ฟัง...
สมัยนั้น มณฑาป่า ใช้ชื่อสกุลว่า Manglietia *ในแสตมป์นี้ระบุปี พ.ศ.2532(ปี ค.ศ.1989) แต่ในปัจจุบัน สกุล Manglietia ไม่มีแล้วครับ ถูกยุบรวม เป็นสกุลเดียว คือ สกุล Magnolia ดังนั้น ชื่อปัจจุบัน ของ มณฑาป่า จึงเปลี่ยนไป เป็น Magnolia garrettii (Craib) V.S.Kumar วงศ์ MAGNOLIACEAE
ชื่อ Magnolia ตั้งตามชื่อนักพฤกษศาสตร์ ชาวฝรั่งเศสชื่อ Pierre Magnol (1638-1715)
ต้นมณฑาป่า พบเฉพาะทางภาคเหนือ ของไทย ในป่าดิบเขา ริมลำธาร และในบริเวณหุบเขา ที่ระดับความสูงจากระดับน้ําทะเล ~ 1-2 Km. มณฑาป่าจึงเป็นเสมือนไม้ปราบเซียน หากนำมาปลูกในที่ราบ มักไม่ยอมออกดอก
มณฑาป่า มีชื่อเรียกไทย ชื่ออื่นๆ อีกว่า มณฑาหลวง, มณฑาแดง, มณฑาดอย เป็นพรรณไม้ดอกหอมของไทยแท้ๆ ที่เราควรรู้จักและช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้นะครับ