ต้นจำปาขาว นครไทย พิษณุโลก ดอกจำปาสีขาวมงคล ในตำนาน ประวัติความเป็นมา?
ดอกจำปาที่คนส่วนใหญ่รู้จักมักมีสีเหลืองส้ม อย่างที่เราเรียกกันว่า"สีจำปา" หากแต่ก็มีจำปาชนิดหนึ่งที่ดอกมีสีขาวนวลแตกต่างจากจำปาทั่วไป เรียกว่า "จำปาขาว" ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ
มีลักษณะที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง จำปา Magnolia champaca (L.) Baill. ex Pierre กับ จำปีป่า Magnolia baillonii Pierre (จำปาxจำปีป่า) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca x baillonii
จำปาขาว 'นครไทย'
จำปาขาวเป็นพรรณไม้ในวงศ์จำปา (Magnoliaceae) สกุล Magnolia มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Magnolia champaca x baillonii
สำหรับประเทศไทยเป็นพรรณไม้พื้นเมืองที่พบที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
และจากการสำรวจพบเพิ่มเติมที่จังหวัดเชียงราย(จำปาขาวเมืองพาน), ปราจีนบุรี (จำปาขาวนาดี) และกาญจนบุรี สำหรับการปลูกเป็นไม้ประดับ ในปัจจุบันนิยมคัดเลือกพันธุ์ที่ต้นค่อนข้างเล็ก มีดอกดก และออกดอกตลอดปี
ไม่ว่าจะเป็นสีของดอกที่มีสีขาวนวล หรือลักษณะของผลที่เป็นรูปทรงกระบอกเรียวยาว มีเปลือกผลเชื่อมติดกันเป็นตุ่มๆ ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างผลย่อยรูปทรงกลมขนาดเล็กของจำปา และผลรูปทรงกระบอกเรียวยาวของจำปีป่า
จำปาขาวเป็นต้นไม้ที่มีประวัติยาวนานสืบย้อนกลับไปได้ถึงอาณาจักรสุโขทัย กล่าวกันว่า จำปาขาวต้นดั้งเดิมซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงกว่า 700 ปี ปัจจุบันยังคงยืนต้นตระหง่านอยู่ที่วัดกลางศรีพุทธาราม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ชาวนครไทยเชื่อกันว่า จำปาขาวต้นนี้ เป็นต้นที่ปลูกโดยพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง
ซึ่งปลูกไว้เมื่อครั้งก่อนยกไพร่พลไปตีเมืองสุโขทัยซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของขอมได้สำเร็จ แล้วสถาปนาตนเองเป็น “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย
โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าตีเมืองสุโขทัยได้สำเร็จ ก็ขอให้ต้นจำปาขาวไม่ตาย และออกดอกเป็นสีขาว จากคำอธิษฐานนั้น จำปาขาวต้นนี้จึงถือเป็นไม้คู่บ้านคู่เมืองของอำเภอนครไทย (เมืองบางยางในอดีต)
ทุกวันนี้หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวชมวัดกลางศรีพุทธาราม จะพบจำปาขาวต้นนี้ที่ด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แม้จะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนานหลายศตวรรษ
หากจำปาขาวต้นนี้ก็ยังคงยืนหยัดอยู่อย่างมั่นคง สง่างาม ลำต้นขนาดใหญ่วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง ที่โคนต้นได้ถึง 1.5 ม. สูงประมาณ 10 ม. เมื่อถึงเวลาออกดอก จำปาขาวจะส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ว สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก
ลักษณะพรรณไม้ของจำปาขาว
ต้นจำปาขาว มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 8-10 ม. แต่มีโคนลำต้นใหญ่ได้ถึง 1.5 ม. ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งจำนวนมากที่ยอด ยอดทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวยคว่ำ
ใบ ยอดอ่อน และใบอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-9 ซม. ยาว 10-20 ซม. ปลายใบแหลม โคนสอบ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบบาง แผ่นใบด้านบนสีเขียวอ่อนเป็นมันวาว ด้านล่างสีอ่อนกว่า
ดอกจำปาขาว
ดอกจำปาขาว ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกบานหงายตั้งขึ้น ดอกสีขาวนวลคือมีสีเหลืองอ่อนเกือบขาว แต่บางต้นก็มีดอกสีขาวล้วนโดยไม่มีสีเหลืองปนเลย เมื่อใกล้โรยกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมากขึ้นใกล้เคียงกับสีของจำปาทั่วไป
ดอกมีกลิ่นหอมแรง ดอกอ่อนรูปกระสวย กว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 3-4 ซม. กลีบดอกมีจำนวน 12-15 กลีบ กลีบชั้นนอกรูปใบหอกค่อนข้างยาว กลีบชั้นในแคบและสั้นกว่า จำปาขาวออกดอกเดือนเมษายนถึงตุลาคม แต่บางครั้งทยอยออกตลอดปี
ผล(ฝัก)ของจำปาขาว มีลักษณะเป็นผลกลุ่ม รูปทรงกระบอกยาว 6-9 ซม. ผลย่อย 15-40 ผล ไม่มีก้านผล แต่ละผลค่อนข้างกลมหรือรี ขนาด 1-2 ซม. เปลือกผลหนาและแข็ง
ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน ผลแก่เปลือกผลเชื่อมติดกันเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ละผลมีเมล็ดแก่สีแดง 1-4 เมล็ด ลักษณะเมล็ดเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ยาว 8-10 มม. ผลแก่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์จำปาขาว สามารถทำได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่ง และทาบกิ่ง มีเกษตรกรทำการขยายพันธุ์จำหน่ายและได้รับความนิยมปลูกกันทั่วไป นับเป็นวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมของต้นจำปาขาวได้ดีอีกวิธีหนึ่ง ช่วยให้มีต้นจำปาขาวจำนวนมากสามารถเจริญเติบโตมีชีวิตได้ยืนยาวต่อไป