ต้นมะละกอฮอลแลนด์ ลักษณะเด่น วิธีปลูกดูแล กำจัดศัตรูพืช โรคมะละกอ เมล็ดพันธุ์?

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะละกอทั้งหมดประมาณ 14,344 ไร่ โดยมีการปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ประมาณร้อยละ 8 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายในรูปแบบของมะละกอบริโภคสุก 

มะละกอฮอลแลนด์

ในปัจจุบันมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมะละกอสุก เป็นส่วนใหญ่ โดยมะละกอพันธุ์นี้สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ย 100 กิโลกรัมต่อต้น ราคาขายปลีก 20-30 บาทต่อกิโลกรัมทำให้มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นพืชทางเลือกใหม่อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจของเกษตรกรในปัจจุบัน

ลักษณะเด่น มะละกอฮอลแลนด์

มะละกอฮอลแลนด์

มะละกอฮอลแลนด์ เป็นมะละกอที่มีลำต้นใหญ่และก้านใบมีสีเขียว ออกดอกเป็นช่อ ติดผลดก ผลเป็นทรงกระบอก ปลายทู่ ผิวเรียบ อายุเก็บเกี่ยว 8 เดือนหลังปลูก เนื้อสีส้มแดงเมื่อสุก ไม่เละเนื้อหนา น้ำหนักผล ประมาณ 0.7-2.0 กิโลกรัมต่อผล นิยมบริโภคสุก

รายละเอียดเพิ่มเติม

ลักษณะเด่นของมะละกอฮอลแลนด์

ไม่มีกลิ่นยาง เนื้อหนา รสหวาน เปลือกหนา ผลดก ทนทานต่อโรคแมลง ตลอดจนทนทานต่อสภาพการขนส่ง

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกมะละกอฮอลแลนด์

ต้นมะละกอฮอลแลนด์ สามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ ยกเว้นพื้นที่น้ำขัง ดินที่เหมาะสมควรเป็นดินเหนียวปนทราย ความเป็นกรดด่าง 5.5-5.0 กรณีพื้นที่ชื้นแฉะควรยกร่องปลูก ระยะปลูก 2.5 x 3 เมตร 1 ไร่จะสามารถปลูกได้ 224 ต้น 

ส่วนสภาพแวดล้อมพบว่า ถ้าอากาศร้อนจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนดอกกระเทยให้กลายเป็นดอกตัวเมีย แต่ถ้าอากาศร้อนมากจะทำให้มะละกอไม่ติดดอก จึงควรให้ความขึ้นกับมะละกออย่างเพียงพอในช่วงที่มีอากาศร้อน 

นอกจากนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี โดยการปลูกพืชเป็นแนวกันลม พืชร่มเงา และพืชพี่เลี้ยงที่เหมาะสมจะช่วยลดการเกิดโรคในมะละกอได้อีกทางหนึ่ง

วิธีการปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์

เกษตรกรควรเลือกกล้าพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์ที่มาจากแหล่งขยายพันธุ์ที่เชื่อถือได้ โดยจะต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการระบาดของโรคและแมลง โดยเฉพาะโรคไวรัสจุดด่างวงแหวน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เหมาะสม โดยการปลูกพืชแนวกันลม พืชร่มเงา หรือพืชพี่เลี้ยง 

ควรมีการจัดการภายในสวนและดูแลมะละกอ ด้วยการป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟและไรแดงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นพันธุ์มะละกอแข็งแรงและสามารถให้ผลผลิตได้ในปริมาณมากอีกทั้งยังมีคุณภาพผลที่ดีซึ่งมีวิธีการปลูกและการดูแลดังนี้

1. การเพาะเมล็ดมะละกอฮอลแลนด์

ขั้นตอนแรกเกษตรกรเตรียมดินสำหรับเพาะเมล็ดพันธุ์มะละกอฮอลแลนด์ โดยใช้อัตราส่วนระหว่าง ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีต่อแกลบดำ ในอัตราส่วน 51 หรือ ดินปลูกต่อแกลบดำ ต่อ ดินทราย ต่อปุ๋ยคอกจากมูลวัวในอัตราส่วน 3:3:2:2 เพาะใส่ถุงหรือกระบะเพาะกล้า 3-5 เมล็ดต่อถุง

แล้วคลุมถุงเพาะกล้าด้วยผ้าบางแล้วรดน้ำพอให้ดินชุ่มวันละ 1-3 ครั้ง โดยการเพาะต้นกล้ามะละกอแบบนี้ควรอยู่ใต้หลังคาพลาสติกใสหรือแสลน เพื่อป้องกันฝนและแสงแดดที่มากเกินไป ปรกติหลังเพาะกล้าไม่เกิน 15 วันเมล็ดจะงอก จึงเปิดผ้าคลุมออก

และดูแลต้นกล้าจนกระทั้งมีใบจริง ประมาณ 5-6 ใบ หรือกล้ามะละกอมีอายุ 30-60 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลง

2. การเตรียมดินและการปลูกมะละกอฮอลแลนด์

เริ่มจากการเตรียมดิน โดยการไถตากแดดทิ้งจนแห้ง ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน แล้วจึงไถพรวนย่อยดิน จากนั้นยกร่องแปลงให้มีขนาดกว้าง 1.5 เมตร สูง 50 เซนติเมตร แล้วขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร

โดยให้มีระยะห่างระหว่างต้น 3 x 3 เมตร (ไร่ละ 177 ต้น)ถ้าระยะระหว่างต้น 2.5 x 2.5 เมตร (ไร่ละ 256 ต้น) การปลูกมะละกอในพื้นที่ที่มีการปลูกพืชอื่นแซมด้วย พบว่าระยะปลูกมะละกอจะไม่มีระยะที่แน่นอนขึ้นอยู่กับแปลงของพืชหลักชนิดนั้น 

 หรือตามความเหมาะสมอายุกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูก 30-60 วัน โดยเฉลี่ยจะปลูกมะละกอ 3 ต้นต่อหลุมและก่อนการย้ายปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ใบไม้ผุ และปุ๋ยร็อคฟอสเฟต (0-3-0) แล้วจึงกลบดินลงหลุม

3. การคัดเพศดอกมะละกอฮอลแลนด์

หลังจากที่มะละกอปลูกลงแปลงประมาณ 3-4 เดือน มะละกอจะเริ่มออกดอก ให้ทำการตัดต้นที่เป็นดอกตัวผู้และตัวเมียทิ้ง เหลือไว้เพียงต้นมะละกอที่ที่มีดอกสมบูรณ์เพศ(ต้นกระเทย)ไว้ 1 ต้นต่อหลุม เพื่อให้ได้มะละกอที่มีผลยาว โดยสามารถสังเกตลักษณะของดอกมะละกอได้ คือ 

ดอกตัวผู้ จะเกิดเป็นช่อ มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 25-75 เซนติเมตร ดอกประกอบด้วยกลีบดอกเชื่อมติดกันตั้งแต่โคนดอกเป็นท่อยาวส่วนปลายดอกแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน 

 ส่วนของเกสรตัวเมียจะลดรูปลงจึงไม่สามารถเจริญเป็นผลได้ 2 ดอกตัวเมีย ประกอบด้วยกลีบ 5 กลีบ แยกออกจากกันตั้งแต่โคนดอก มีเกสรตัวเมีย 5 อัน ไม่มีส่วนของเกสรตัวผู้อยู่เลย

ดอกสมบูรณ์เพศ (ดอกกระเทย) เป็นทรงกระบอกยาว มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน กลีบดอกเชื่อมติดกัน 3 ใน 4 ของความยาวกลีบดอก ส่วนปลายแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน และมีเกสรตัวเมีย 5 ช่องรังไข่

4. การให้ปุ๋ย สำหรับต้นมะละกอฮอลแลนด์

เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังย้ายกล้าแล้ว 1 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะต่อต้นร่วมกับปุ๋ยคอกและปุ๋ยน้ำหมัก โดยใส่ 1 ครั้งต่อเดือน เมื่อมะละกอเจริญเติบโตอยู่ในช่วงให้ผลผลิต จะเปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 13-3-21 อัตรา 1-2 ช้อนโต๊ะต่อต้น ถ้าพบว่ามีต้นที่แสดงอาการขาดธาตุอาหารจะใช้ปุ๋ยเกร็ดฉีดพ่นทางใบร่วมกับใช้ปุ๋ยคอกและปุยน้ำหนักประมาณ 1 ครั้งต่อเดือน

5. การให้น้ำ สำหรับต้นมะละกอฮอลแลนด์

การให้น้ำสำหรับต้นมะละกอฮอลแลนด์ควรเป็นระบบมินิสปริงเกอร์ จะช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดโรคทางใบของมะละกอได้ เนื่องจากการกระจายน้ำจะอยู่บริเวณใต้ต้นเท่านั้น โดยให้น้ำ 1 ครั้งต่อวันหรือสังเกตดูว่ามะละกอเริ่มขาดน้ำ จึงให้น้ำเป็นเวลา 15-30 นาทีต่อครั้ง 

ในช่วงฤดูแล้งจะให้น้ำถี่ขึ้น เพื่อช่วยให้มะละกอสามารถติดผลได้ดี ดังนั้น ถ้าต้องการให้มะละกอมีผลผลิตตลอดปีต้องมีแหล่งน้ำเพื่อใช้เพาะปลูกอยู่ใกล้แปลงมะละกอ และมีเพียงพอตลอดฤดูการปลูก 

 สำหรับฤดูฝนการให้น้ำในแปลงมะละกอจะลดลงหรืองดการให้น้ำ เนื่องจากมะละกอไม่ชอบสภาพน้ำขังแปลง ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดโรครากเน่าตามมา

6. การกำจัดวัชพืช

ควรใช้วิธีการถอนวัชพืชรอบโคนต้นและตัดรอบๆแปลงให้เตียนโล่ง หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชในแปลงมะละกอควรทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต้นมะละกอจะเติบโตผิดปกติ ถ้าได้รับสารกำจัดวัชพืช 

 ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีในมะละกอต้นเล็ก จะใช้ถุงพลาสติกคลุมต้นแล้วจึงพ่นยา ในมะละกอต้นโตจะพ่นยารอบแปลงปลูกหรือในร่องแปลงเท่านั้น ส่วนรอบโคนต้นจะใช้วิธีถากหญ้า

7. โรคใบด่างวงแหวน

โรคใบด่างวงแหวน เป็นปัญหาหลักในการปลูกมะละกอที่ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมากและไม่ได้คุณภาพ โดยจะเข้าทำลายมะละกอในทุกระยะการเจริญเติบโต อาการที่แสดงออกที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ใบด่างเหลือง บิดเบี้ยวหงิกงอ และเรียวเล็ก 

 อาการที่พบบนลำต้นและก้านใบจะพบลักษณะที่จุด หรือรอยช้ำเป็นทางยาว ส่วนอาการบนผลจะเป็นจุดคล้ายวงแหวนทั่วทั้งผล เนื้อส่วนที่เป็นจุดมักจะเป็นไตแข็ง มีรสขม 

วิธีการป้องกัน ไม่ควรใช้กล้าพันธุ์หรือเมล็ดพันธุ์มาจากแหล่งที่มีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสชนิดนี้ การจัดการภายในสวนโดยการป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดง ซึ่งเป็นพาหะของไวรัส รวมทั้งการปลูกพืชแซมเช่น กล้วยน้ำว้า ระหว่างแถวของมะละกอสามารถช่วยลดอัตราการติดไวรัสชนิดนี้ได้

โรคอีกชนิดที่พบ คือ โรคแอนแทรคโนส พบในใบมะละกอแสดงอาการจุดเล็กๆ สีเทาบนใบ ต่อมาขยายตัวเล็กน้อยและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเนื้อเยื่อกลางจุดซีดจางฉีกขาดเป็นรู ส่วนผลมะละกอสามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต แต่พบมากกับผลมะละกอที่แก่และสุกเป็นจุดสีน้ำตาลปุ่มบริเวณกันผลและบนผล 

โดยสามารถแพร่ระบาดโดยทางลมเข้าทำลายผลมะละกอในระยะที่อ่อนแอ เช่น ในระยะช่อดอกและผลอ่อน เมื่อสภาพความชื้นสูงในฤดูฝนทำให้ดอกและผลอ่อนเน่าแห้งมีคราบสปอร์สีส้มปกคลุม แต่เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเชื้อราพักตัวที่ผิวผล เมื่อผลมะละกอสุก เชื้อจะทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลกระจัดกระจายบนผิวผล

วิธีการป้องกัน รวมใบแห้งและเศษพืชเผาทำลายฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดดูดซึม ได้แก่ แมนโคแซปสลับกับคาร์เบนดาซิลหรือเบนโนมิล เป็นระยะๆ ตั้งแต่ระยะช่อดอก

นอกจากนี้ โรครากเน่าและโคนเน่า ก็พบได้บ่อยในมะละกอ สาเหตุเกิดจากเชื้อรา โดยมะละกอจะแสดงอาการใบเดี่ยวเหลืองและแห้งตายอย่างรวดเร็ว โคนต้นจะเน่าเนื้อเยื่อเปื่อยยุ่ยสีน้ำตาลชุ่มน้ำ

วิธีการป้องกัน ใช้วิธีเพิ่มจุลินทรีย์ในดินหลุมปลูกโดยการใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อช่วยป้องกันกำจัดเชื้อราด้วยชีววิธีลดสภาพความเป็นกรดของดินโดยการใส่ปูนขาว จัดการระบบระบายน้ำในแปลงไม่ให้มีน้ำขังและทำให้ดินร่วนซุย

8. แมลงศัตรูพืช

แมลงที่เข้าทำลายมะละกอที่พบ ได้แก่ เพลี้ยหอย ส่วนมากจะเป็นเฉพาะต้น ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัด ส่วนใหญ่เกษตรกรจะตัดต้นที่ถูกเพลี้ยหอยเข้าทำลายทิ้ง หรือ นำไปเผาทิ้งนอกแปลงปลูก 

นอกจากนี้ ยังมีหอยทากพบการระบาดค่อนข้างมาก การกำจัดเป็นไปได้ยาก ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดเท่านั้น ส่วนมากพบบนต้นมะละกอ กัดกินใบอ่อนและดอก ทำให้ไม่ได้ผลผลิตในบางส่วน

9. การเก็บเกี่ยว ผลมะละกอฮอลแลนด์

เมื่อมะละกออายุ 6-8 เดือนหลังย้ายปลูกลงแปลง โดยดูผลที่เริ่มเปลี่ยนสีจะมีพื้นผิวสีเขียวเข้มและจะมีสีเหลืองอ่อนๆ บริเวณสันทางด้านปลายผล ประมาณ 2-3 แต้ม เกษตรกรสามารถเก็บได้ประมาณต้นละ 100 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี 

ถ้าไม่มีการระบาดของโรคใบด่างวงแหวน สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 2-3 ปี หลังจากเก็บเกี่ยวสามารถเก็บไว้ได้นาน 7 วัน

10. การปฏิบัติภายหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อการส่งออก

ทำการเก็บเกี่ยวนำผลมะละกอใส่ภาชนะแล้วลำเลียงไปยังแหล่งคัดบรรจุ ต้องทำอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลหรือกระทบกระแทก โดยคัดเอาผลเสียหรือผิดปรกติที่ไม่ได้ขนาด และมีตำหนิออก 

ทำความสะอาดผลใส่โฟมหุ้มผลเพื่อป้องกันผลมะละกอ ตรวจสอบคุณภาพครั้งสุดท้าย ก่อนจะบรรจุผลตั้งในกล่องกระดาษ โดยให้ด้านขั้วลงแล้วปิดฝากล่องนำเข้าเก็บรักษาในอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส เพื่อรอการขนส่งต่อไป

มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ นอกจากใช้เพื่อการบริโภคผลสุก แล้วยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆ ได้แก่ มะละกออบแห้ง แยมมะละกอ น้ำมะละกอ มะละกอหั่นชิ้นในน้ำเชื่อม เป็นต้น

อ้างอิง : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นลัดดาวัลย์ (ลดาวัลย์) ชอบแดดไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก การขยายพันธุ์ ราคาถูก?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

มวนนักกล้าม แมลงศัตรูพืชตระกูลถั่ว ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วฝักยาว?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

ต้นหมันดง, ตังบี้ ลักษณะ ผลสุก รสหวาน มีเมือกเหนียว ประโยชน์ ออกดอกเดือนไหน?

อิมิดาโคลพริด imidacloprid คืออะไร อันตรายไหม? ประโยชน์ ออกฤทธิ์ วิธีใช้ ราคา?

ต้นพุดสี (พุดสีดา, พุดป่า, พุดสีดาดง) แตกต่างจาก พุดน้ำบุศย์ ลักษณะ ดอกหอมแรง?

สตาร์เกิลจี วิธีใช้ยังไง ช่วยอะไร อันตรายไหม ซื้อที่ไหน ราคาถูก