ต้นพุดสี (พุดสีดา, พุดป่า, พุดสีดาดง) แตกต่างจาก พุดน้ำบุศย์ ลักษณะ ดอกหอมแรง?
ก่อนหน้านี้ "พุดสี" เดิมมีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า "พุดป่า" จนกระทั่งในปี 2544 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นพุดสีตามที่ระบุอยู่ในหนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย แต่ยังมีชื่อเรียกทางการค้าในตลาดต้นไม้กันว่า "พุดสีดา" ซึ่งสันนิษฐานกันว่า น่าจะมาจากลักษณะของผล ซึ่งมีลักษณะคล้ายผลฝรั่ง หรือ "บักสีดา" ในภาษาอีสาน
พุดสี (พุดสีดา)
พุดสี หรือพุดสีดาชนิดนี้ สามารถจำแนกออกจากพุดชนิดอื่นที่อยู่ในสกุลเดียวกันได้ง่าย เนื่องจากเมื่อผลแก่จะแตกแบะออก เปลือกผลด้านในมีสีแดงเข้ม ต่างจากพุดที่อยู่ในสกุลนี้ทั้งหมดซึ่งจะมีผลรูปรีคล้ายคลึงกัน และมีขนาดยาวประมาณ 3-4 ซม. เหมือนๆ กัน แต่เมื่อแก่แล้วจะไม่แตกออกเหมือนกับพุดสี
ดอกของพุดสี มีลักษณะคล้ายคลึงกับพุดชนิดอื่นๆที่อยู่ในสกุลเดียวกัน และมีสีเหลืองคล้ายคลึงกับพุดน้ำบุศย์(พุดน้ำบุษย์) แต่พุดสีมีขนาดของดอกเล็กกว่าและมีขอบกลีบเวียนซ้อนเกยกันมากกว่า
พุดสีชอบขึ้นกระจายอยู่บริเวณน้ำกร่อย ชายทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ระดับต่ำในภาคใต้ ทั้งชายฝั่งตะวันตกและชายฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน
จังหวัดที่พบมากได้แก่ กระบี่ พังงา นอกจากนั้นยังพบบริเวณชายทะเลในภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี และจันทบุรี นอกจากนี้ยังพบบริเวณริมน้ำตก ในอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งเป็นพื้นที่ระดับสูงถึง 600 ม. อันผิดไปจากวิสัยของพรรณไม้ชนิดนี้ ที่ชอบขึ้นในบริเวณน้ำกร่อย
พุดสี (พุดสีดา) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia tubifera Wall. ex Roxb. พุดสีเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ในวงศ์ Rubiaceae สกุล Gardinia เช่นเดียวกับพุดชนิดอื่นๆ แต่พุดสีจะเป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตช้าที่สุด และทรงพุ่มก็มีขนาดเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน เช่น คำมอกหลวง รักนา ผ่าด้าม พุด และพุดภูเก็ต
แต่พุดสี ก็มีลักษณะเด่นคือออกดอกตลอดปี จึงเหมาะที่จะปลูกเป็นไม้ประดับโชว์ทรงพุ่ม ไม้กระถาง และไม้ดอกลงแปลงประดับสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ขนาดเล็กในอดีต
คนนิยมนำไม้ในสกุลพุดมาทำหวี ด้วยมีความเชื่อที่ว่า หวีที่ทำจากไม้พุดเมื่อนำมาหวีผมแล้วผมจะดกดำ โดยอ้างว่าไม้พุดนี้จะไม่สร้างประจุไฟฟ้าซึ่งจะช่วยให้เส้นผมมีสีดำขึ้น อยู่ได้นานมากขึ้น หรือเท่ากับช่วยป้องกันผมหงอกได้ช้าลง
แต่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ การตัดไม้พุดเพื่อนำมาทำหวีจึงเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับการปลูกเป็นไม้ประดับและจำหน่ายซึ่งมีมูลค่ามากกว่า
ลักษณะพรรณไม้ของพุดสี
ต้นพุดสี มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-5 ม. แตกกิ่งมาก ทรงพุ่มแผ่กว้าง กิ่งโน้มลงต่ำ เปลือกสีเทาอมขาว มีช่องอากาศเป็นตุ่มขนาดเล็กทั่วไป เนื้อไม้เหนียว ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามเป็นคู่ รูปไข่กลับ กว้าง 5-8 ซม. ยาว 10-15 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบเป็นติ่ง เรียวแหลม ผิวใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนนุ่ม สาก และมีเส้นกลางใบนูน
ดอกพุดสี ออกดอกเป็นดอกเดี่ยว โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอด มีสีเหลืองนวลยาว 6-7 ซม. ปลายแยกเป็นกลีบ 6-8 กลีบ ส่วนใหญ่มี 7 กลีบ แต่ละกลีบรูปไข่กว้าง 2 ซม. ยาว 2.5 ซม. เรียงวนซ้าย
เมื่อบานใหม่ๆ ดอกมีสีเหลืองนวล ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ดอกบานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 ซม. ออกดอกตลอดปีและมีดอกดกช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ผลพุดสี มีลักษณะเป็นผลรูปกลมแป้น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 ซม. ยาว 3.5 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำ แตกเป็นแผ่น แบน เปลือกผลด้านในสีแดงเข้ม มีเมล็ดมาก
การขยายพันธุ์พุดสี สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง ปลูกลงแปลงกลางแจ้ง