ต้นคำมอกน้อย (พุดน้ำผึ้ง) ดอกพุดป่าของไทย ไม้ดอกหอม ลักษณะ วิธีปลูกเลี้ยงดูแล?
"คำมอกน้อย" เป็นพรรณไม้ในสกุลดอกพุดของไทย มีชื่อเรียกทางการค้าในตลาดต้นไม้ว่า "พุดน้ำผึ้ง" และยังมีชื่ออื่นเป็นชื่อท้องถิ่นอีกหลายชื่อ เช่น กระมอบ, กระบอก, ไข่เน่า, คมขวาน, พญาผ่าด้าม, พุดนา, ฝรั่งโคก ฯลฯ ดอกมีลักษณะคล้ายดอกคำมอกหลวง แต่มีขนาดเล็กกว่า ...
คำมอกน้อย
หากท่านมีโอกาสเข้าไปเดินชมธรรมชาติในป่าเต็งรัง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ทั่วทั้งแนวป่าจะครอบคลุมไปด้วยต้นไม้ที่มีกิ่งระเกะระกะปราศจากใบ มองดูคล้ายกับแนวป่าที่ขาดความชุ่มชื้น ไร้ซึ่งความมีชีวิตชีวา เช่นเดียวกับ คำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้ง ที่พร้อมใจกันทิ้งใบหมดแทบทั้งต้น
หากแต่ได้เบ่งบานดอกสีขาวโพลนเต็มทั่วทรงพุ่ม ส่งกลิ่นหอมหวาน ยังความสดชื่นมาสู่ผืนป่า และถ้าได้มีโอกาสย้อนกลับไปหลังจากดอกบาน 2-3 วัน ก็จะพบว่ากลีบดอกที่เคยเบ่งบานได้หลุดร่วงพรูลงมาเต็มพื้น
ภาพ : Meepole's silent corner 2
ขณะที่บนต้นก็จะผลิดอกใหม่ออกมาทดแทน คราใดที่ท่านได้มีโอกาสเห็นภาพประทับใจดังกล่าว ครานั้นท่านคงไม่อยากที่จะย่างก้าวไปไหนอีกเลย เพราะท่านได้ยืนอยู่ ณ จุดที่สวยงามที่สุดของป่าเต็งรังแล้ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ คำมอกน้อย
คำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gardenia obtusifolia Roxb. ex Hook.f. เป็นพรรณไม้ในวงศ์ดอกพุด Rubiaceae มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก โดยจะพบทั่วไปตามป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง ส่วนในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคอินโดจีน
คำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้งเป็นพรรณไม้ที่ทนทานต่อความแห้งแล้งมากที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตช้าที่สุด
ผู้ที่เคยปลูกคำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้งโดยการเพาะเมล็ด คงจะทราบเป็นอย่างดีว่า กว่าต้นคำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้งจะมีความสูงถึง 3 ม. ต้องใช้เวลาในการดูแลเอาใจใส่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ด้วยความที่คำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้งเป็นพรรณไม้ที่ใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตค่อนข้างนาน จึงมักมีผู้ลักลอบเข้าไปขุดล้อมต้นจากพื้นที่อนุรักษ์ ทำให้จำนวนต้นคำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้งในถิ่นธรรมชาติลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
วิธีการอนุรักษ์ที่ถูกต้องจึงควรสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกต้นคำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้งมากขึ้น ด้วยระยะปลูก 3x4 ม. แล้วหมั่นบำรุงรักษาจนกระทั่งต้นคำมอกน้อย หรือพุดน้ำผึ้งมีทรงพุ่มสวยงามและออกดอกได้
เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่บรรดานักจัดสวนที่มาซื้อต้นคำมอกน้อยหรือพุดน้ำผึ้ง จากเกษตรกรไปจัดสวนให้แก่บรรดาเจ้าของบ้านที่นิยมปลูกสวนไม้ไทยหายาก
ถือเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ขณะเดียวกันก็เป็นการอนุรักษ์ต้นแม่พันธุ์ที่อยู่ในป่า ช่วยให้ต้นแม่พันธุ์เหล่านั้นได้ออกดอกติดผลและกระจายพันธุ์ต่อไป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของคำมอกน้อย
ต้นคำมอกน้อย หรือต้นพุดน้ำผึ้ง มีลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ผลัดใบขณะออกดอก มีความสูงประมาณ 2-8 ม. ลำต้นแคระแกร็น กิ่งก้านคดงอ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีเทาปนดำ แตกเป็นร่องลึกตามยาว เนื้อไม้สีขาว ยอดอ่อนผิวมัน มีชันสีเขียวอมเหลือง
ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ มี 2-4 คู่ กว้าง 3-7 ซม. ยาว 6-13 ซม. ปลายมนกว้าง โคนสอบมน เว้าเล็กน้อยตรงรอยต่อก้านใบ ขอบเรียบ ก้านใบสั้นมาก หูใบระหว่าง ก้านใบติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ใบอ่อนมีคราบของชัน เหนียวติดกันตามผิวใบจนเป็นมัน
ดอกคำมอกน้อย หรือดอกพุดน้ำผึ้ง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวออกที่ปลายกิ่ง เมื่อดอกบานใหม่ๆ ดอกสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นดอกสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมหวาน
เมื่อดอกบานเต็มที่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 ซม. กลีบดอกตูมบิดเวียน โคนกลีบ ดอกติดกันเป็นหลอดคล้ายรูปแจกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปขอบขนานปลายมน ยาว 2-3 ซม.
ผลคำมอกน้อย หรือผลพุดน้ำผึ้ง มีลักษณะเป็นผลมีเนื้อ รูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3.5 ซม. ผนังหนา สีน้ำตาลอมเขียว ส่วนบนของผลมีหลอด กลีบเลี้ยงสั้นๆ ติดอยู่ ลักษณะเมล็ด กลมรี ค่อนข้างแบน ยาว 3-5 มม.
การขยายพันธุ์คำมอกน้อยหรือพุดน้ำผึ้ง สามารถใช้วิธีการเพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง
ที่มา : หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552