เปรียบเทียบความแตกต่าง มหาพรหม กับ มหาพรหมราชินี มีจุดแตกต่างกัน ยังไงบ้าง?

ความเหมือนที่แตกต่าง ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา สกุลมหาพรหม ระหว่าง มหาพรหม กับ มหาพรหมราชินี แตกต่างกันอย่างไร? ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะดอก แตกต่างกัน ...

ต้นมหาพรหม และ ต้นมหาพรหมราชินี

ความสับสนระหว่าง มหาพรหม กับ มหาพรหมราชินี สองพี่น้องฝาแฝดในสกุลเดียวกัน ที่มีรูปร่างลักษณะหน้าตาของดอกและใบคล้ายกันมาก แต่จริง ๆ แล้ว เป็นคนละชนิดกัน

วันนี้จึงขอนำข้อมูลความแตกต่างกันระหว่างมหาพรหมทั้งสองชนิด ว่าแต่ละชนิดมีจุดจำแนกความแตกต่างกัน อยู่ที่ตรงไหน และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ความเหมือนที่แตกต่าง

เปรียบเทียบความแตกต่าง ต้นมหาพรหม กับ ต้นมหาพรหมราชินี

มหาพรหม และ มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย ที่อยู่ในวงศ์กระดังงา (Family Annonaceae) และอยู่ในสกุลมหาพรหม (Genus Mitrephora) เดียวกัน

รายละเอียดเพิ่มเติม

มหาพรหมทั้งสองจึงมีลักษณะทางสัณฐานวิทยา (morphology) หรือรูปทรงโดยรวมคล้ายคลึงกัน อาทิเช่น มีขนาดของลำต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5-6 ม.

มีใบเรียงสองข้างในระนาบเดียวกัน (distichous) ดอกสีขาว ดอกมีกลิ่นหอม ดอกมีรูปทรงกระเช้า หรือ หมวก (mitreform) คือ มีกลีบดอก 6 กลีบเรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นนอกมี 3 กลีบสีขาวกางแผ่ออก ชั้นในมี 3 กลีบ ขอบกลีบประกบติดกันเหมือนกระเช้า และมีผลเป็นแบบผลกลุ่มที่มีผลย่อยแต่ละผลแยกจากกัน

แต่ในท่ามกลางความเหมือนนั้น หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบว่า ทั้งมหาพรหมและมหาพรหมราชินี มีข้อแตกต่างกัน จนแยกออกเป็นคนละชนิด

ความแตกต่าง

นอกจากมีถิ่นกําเนิดที่มีสภาพนิเวศวิทยาแตกต่างกันแล้ว ยังมีข้อสังเกตที่สามารถใช้แยกออกจากกันได้(ปิยะ, 2549) คือ

มหาพรหม

มหาพรหม

photo by Anan Pi.

  • มีเปลือกลําต้นหนาสีดํา
  • ใบหนานุ่ม สีเขียวอ่อน มีขนหนานุ่ม ปลายใบแหลม
  • ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 ซม.
  • กลีบดอกชั้นในสีเลือดนก
  • ผลย่อยลักษณะกลม ขนาด 1-1.5 ซม.

รายละเอียดเพิ่มเติม

มหาพรหม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora winitii Craib เป็นพรรณไม้ที่ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร ผู้เก็บตัวอย่างพรรณไม้นี้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2464 จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์

มีการตีพิมพ์รายงานในปี พ.ศ. 2465 ระบุว่าเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ (Weerasooriya, 2001) ในปัจจุบันพบว่ามีการกระจายพันธุ์ อยู่ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี จ.ราชบุรี และ จ.กาญจนบุรี

มหาพรหมราชินี

มหาพรหมราชินี
  • มีเปลือกลําต้นหนาสีน้ำตาลปนเทา
  • ใบบางเหนียวเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ปลายใบเรียวแหลม
  • ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-10 ซม. ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดอกมหาพรหม แต่มีกลิ่นหอมอ่อนกว่า
  • กลีบดอกชั้นในสีม่วง
  • ผลย่อยรูปทรงกระบอกยาว 5-5.5 ซม.

รายละเอียดเพิ่มเติม

มหาพรหมราชินี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitrephora sirikitiae Weerasooriya, Chalermglin& R.M.K.Saunders เป็นพรรณไม้ที่มีการเก็บตัวอย่างจําแนกชื่อและตั้งชื่อร่วมกัน 3 คน

โดย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิชาการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ Dr. Aruna Weerasooriya และ Dr. R. M. K.Saunders นักพฤกษศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง (Weerasooriya et al., 2006)

ได้ประกาศการค้นพบ ในปี พ.ศ.2547 โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้ใช้ชื่อพระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ว่า "มหาพรหมราชินี" นับเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ที่มีถิ่นกําเนิดอยู่เฉพาะใน จ.แม่ฮ่องสอน (ปิยะ, 2547)

มหาพรหมเทวี

มหาพรหมเทวี เกิดจากการกลายพันธุ์จากการเพาะเมล็ดของ มหาพรหมราชินี จึงมีชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกัน คือ Mitrephora sirikitiae 'Thewi'

มหาพรหมเทวี

ความแตกต่าง จาก มหาพรหมราชินี

  1. ต้นมหาพรหมเทวี สามารถออกดอกตลอดทั้งปี แต่ต้นมหาพรหมราชินีจะออกดอกเพียงปีละครั้ง
  2. ดอกมหาพรหมเทวี มีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอมแรงกว่าอย่างชัดเจน
  3. กลีบดอกตรงกลางของดอกมหาพรหมเทวี จะเป็นสีแดงหรือสีม่วงอ่อนอมชมพู แต่ดอกมหาพรหมราชินีจะเป็นสีม่วง

นอกนั้น ส่วนอื่นๆ ก็เหมือนกัน คือ ใบของมหาพรหมเทวี กับใบของมหาพรหมราชินี จะไม่มีขน ใบเรียบเป็นมันเช่นเดียวกัน ทำให้เวลามีดอกคล้ายคลึงกันมาก

รายละเอียดเพิ่มเติม

วิธีปลูก

สําหรับการปลูกเป็นไม้ประดับที่สวยงาม ควรปลูกลงแปลงกลางแจ้ง ให้มีระยะปลูกห่างจากต้นข้างเคียงอย่างน้อย 2 ม. สามารถปลูกได้ในพื้นที่ราบที่มีอากาศร้อนเหมือนกัน

แม้ว่ามหาพรหมมีถิ่นกําเนิดเดิมจากพื้นที่เขตร้อนในระดับต่ำ และมหาพรหมราชินีมีถิ่นกำเนิดเดิมจากพื้นที่เขตหนาวในระดับสูงก็ตาม ทั้งสองชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ดี

ต้นมหาพรหมมีทรงพุ่มโปร่งเมื่อได้รับแสงแดดทั่วทั้งทรงพุ่ม ถ้าดินปลูกร่วนระบายน้ำดี จะออกได้เต็มต้นอย่างสวยงามในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม และจะมีช่วงออกดอกได้ยาวนานมากกว่าในถิ่นกําเนิดเดิมที่ออกดอกบานเฉพาะในเดือนพฤษภาคม

เนื่องจาก ต้นมหาพรหม กับ ต้นมหาพรหมราชินี พรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้ มีดอกดกขนาดใหญ่สวยงาม และมีกลิ่นหอม จึงมีการขยายพันธุ์กันเป็นจํานวนมาก โดยการทาบกิ่งที่ใช้ต้นมะป่วนเป็นต้นตอ แล้วนําไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จนกล่าวได้ว่า พรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้พ้นจากสภาพที่หายากและใกล้สูญพันธุ์แล้ว

อ้างอิง: หมายเหตุนิเวศวิทยา ปีที่1 ฉบับที่2 เมษายน-มิถุนายน 2550 โดย ปิยะ เฉลิมกลิ่น, พัชรินทร์ เก่งกาจ และ จิรพันธ์ ศรีทองกุล ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ดูรายละเอียดเพิ่มเติม »

แนะนำพันธุ์ไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย พันธุ์ไม้ผล พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทำสวน/ทำการเกษตร/อุปกรณ์ปลูกต้นไม้ ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ราคาถูก โดย Siamplants ขายต้นไม้ อุปกรณ์ทำสวน

Popular Posts

ต้นลัดดาวัลย์ (ลดาวัลย์) ชอบแดดไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก การขยายพันธุ์ ราคาถูก?

เครือไพสงแดง (เถาวัลย์แดง,โสรยา) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

มวนนักกล้าม แมลงศัตรูพืชตระกูลถั่ว ถั่วลิสง ถั่วแระ ถั่วฝักยาว?

ต้นกระถินณรงค์ แตกต่าง กระถินเทพา ลักษณะ ข้อดี ประโยชน์ วิธีปลูก ขยายพันธุ์?

ต้นจำปีแคระ, จำปีจิ๋ว ต้นสูงเท่าไหร่ วิธีปลูก ในกระถาง ให้ออกดอกดก, ชอบแดดไหม?

ต้นมั่งมี (เฉียงพร้านางแอ) มั่งมีศรีสุข ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ ออกดอกเดือนไหน?

ต้นแก้วเจ้าจอม ต้นไม้มงคล ปลูกในบ้านดีไหม วิธีปลูกให้ออกดอกดก ปลูกในกระถาง?

ต้นพวงคราม ดอกสีม่วง/สีขาว วิธีปลูกพวงคราม ให้ออกดอกดก สายพันธุ์ต่างๆ มีกี่สี?

แคคตัส ดาวล้อมเดือน อิชินอปซิส Echinopsis calochlora ลักษณะเด่น วิธีปลูก ดูแล?

สตาร์เกิลจี วิธีใช้ยังไง ช่วยอะไร อันตรายไหม ซื้อที่ไหน ราคาถูก