ต้นกัลปพฤกษ์ ต้นไม้มงคล พันธุ์ไม้ไทย ต้นไม้สารพัดนึก ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณ?
"กัลปพฤกษ์" มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassia bakeriana Craib วงศ์ Fabaceae (Leguminosae) พรรณไม้พื้นเมืองของไทย ดอกสีขาวแกมชมพูหวานแสนงดงาม มีชื่ออื่นว่า กานล์, กาลพฤกษ์, ชัยพฤกษ์
ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ ว่า Pink shower, Wishing tree
ชื่อสกุล "Cassia" มาจากภาษากรีกโบราณ "kasia" หรือ "kassia" ที่ใช้เรียกพืชที่มีกลิ่นหอม
กัลปพฤกษ์ ต้นไม้สารพัดนึก
กัลปพฤกษ์ ไม้ดอกสีขาวแกมชมพูแสนงดงาม นามมงคลเสนาะหูนี้ ดอกมีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Cassia ของไทย ในแต่ละถิ่นก็มีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น กานล์ ในภาษาเขมรและแถบจังหวัดสุรินทร์ ชัยพฤกษ์ในแถบภาคเหนือ และเปลือกขมในแถบจังหวัดปราจีนบุรี
กัลปพฤกษ์จัดเป็นไม้ในวงศ์ Fabaceae (Leguminosae) มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าเบญจพรรณแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก บางครั้งพบขึ้นอยู่บนภูเขาหินปูนบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 300-1,000 ม.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นกัลปพฤกษ์ มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 5-15 ม. เปลือกเรียบสีเทา เรือนยอดทรงกลม หรือรูปร่ม แผ่กว้าง แตกกิ่งในระดับต่ำ มีกิ่งขนาดเล็กจำนวนมาก
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ยาว 15-40 ซม. ใบย่อย 5-8 คู่ กว้าง 1.5-3.5 ซม. ยาว 6-9 ซม. ปลายใบมน หรือมีติ่งสั้น โคนใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนและด้านล่างมีขน
ดอกกัลปพฤกษ์ ดอกสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาว ออกเป็นช่อตามกิ่ง ช่อดอกยาว 4-8 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ รูปใบหอกแกมรูปไข่ ดอกบานเต็มที่ กว้าง 3-5 ซม.
ผลเป็นฝักแห้ง ทรงกระบอกแคบ สีน้ำตาล กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 30-40 ซม. มีขนนุ่มสีเทาหนาแน่น ภายใน มีเมล็ด 30-40 เมล็ด ลักษณะเมล็ด สีน้ำตาลแดง กลมแบน ขนาด 5-8 มม.
การขยายพันธุ์กัลปพฤกษ์ สามารถทำได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ และสรรพคุณ
นิยมปลูกกัลปพฤกษ์เป็นไม้ประดับในที่โล่ง จะทิ้งใบแล้วผลิดอกเต็มต้น และทยอยบานใน 3-4 สัปดาห์ รูปทรงสวยและให้ดอกสวยงามแต่ใช้เวลาในการปลูกนานจึงจะมีดอก ทนแล้งได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นเนื้อในฝักยังมีสรรพคุณเป็นยาระบาย เปลือกฝักและเมล็ดทำให้อาเจียนและช่วยลดไข้ได้อีกด้วย
ด้วยความที่ออกดอกพร้อมกันทั้งต้น ดอกดก สีสันสวยงาม เพาะเมล็ดเป็นต้นกล้าได้ง่าย ทำให้ กัลปพฤกษ์ซึ่งเป็นพรรณไม้ป่าของไทย ที่เปลี่ยนสภาพมาเป็นไม้ปลูกประดับข้างทางหลวง ยืนต้นเด่นสวยงามอยู่เป็นระยะๆ
และหากเดินทางผ่านป่าเบญจพรรณในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม จะเห็นต้นกัลปพฤกษ์ออกดอกสล้างไปทั้งต้น แซมกับพรรณไม้หลากชนิด ดูสวยงามแปลกตา
ตามคติโบราณ ต้นกัลปพฤกษ์ถือว่าเป็นต้นไม้สารพัดนึก เช่นเดียวกับต้นปาริชาติ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแดนสวรรค์ ไม่ว่าชาวสวรรค์จะปรารถนาสิ่งใดก็สามารถนึกขอเอาได้ทุกสิ่ง ในงานพิธีหลวงในสมัยโบราณ เช่น ในงานพระราชทานเพลิงศพ
ได้มีความนิยมจำลองต้นกัลปพฤกษ์ขึ้น โดยผูกโครงไม้เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นชั้นๆ แต่ละชั้นเสียบผลมะนาว ผลส้ม และมะกรูดที่เจาะรูไว้สำหรับใส่เงินปลีก สำหรับการทิ้งทานให้คนยากจน
โดยเมื่อถึงเวลาเจ้าพนักงานจะเหวี่ยงไม้ที่เสียบผลไม้เหล่านั้นให้ปลิวไปตกห่างๆ และผู้คนก็เข้ามากลุ้มรุมชิงลูกส้มกัน ต่อมาประเพณีตั้งต้นกัลปพฤกษ์จำลองตามงานศพได้เสื่อมความนิยมลงในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และได้เริ่มกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขในงานรื่นเริงต่างๆ เช่นในเทศกาลปีใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นนำสลากของขวัญไปติดไว้บนต้นกัลปพฤกษ์จำลอง แล้วให้ผู้ที่มาร่วมงานไปสอยมาจับของขวัญกันเป็นที่สนุกสนาน
อ้างอิง: หนังสือ 84 พรรณไม้ถวายในหลวง โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ โดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ, 2552