ต้นหนามพรม, หนามพรหม, พรม ไม้ดอกหอมไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะ ประโยชน์?
ข้อมูลพรรณไม้ ต้นหนามพรม (หนามพรหม, พรม) ชื่อวิทยาศาสตร์ ถิ่นกำเนิด ลักษณะพรรณไม้ วิธีการปลูกเลี้ยง ดูแลรักษา ขยายพันธุ์ การใช้ประโยชน์ สรรพคุณทางด้านสมุนไพร
หนามพรม (หนามพรหม)
หนามพรม (หนามพรหม) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carissa spinarum L. วงศ์ Apocynaceae "หนามพรม" (หรือบางคนเขียนว่า "หนามพรหม") มีชื่อท้องถิ่นอื่น เช่น พรม (ภาคกลาง), ขี้แฮด (ภาคเหนือ), ปรม ปินลาติ๊กขะมุม (เขมร-อ.ท่าตูม สุรินทร์)
ชื่อภาษาอังกฤษ Num-num เป็นพรรณไม้ดอกหอมพื้นเมืองของไทย อยู่ในวงศ์ Apocynaceae ดอกออกเป็นช่อสีขาวบานพร้อมๆกัน ส่งกลิ่นหอมโชยชื่นใจ
หนามพรหม มีสรรพคุณทางด้านสมุนไพร แก้ไวรัสตับอักเสบ และไขข้ออักเสบ และยังมีการใช้ประโยชน์ด้านอื่นอีก โดยใช้ในพิธีกรรมทางความเชื่อ กิ่งหนามพรม 7 ชิ้น + หมาก 7 ชิ้น + ไพล 7 ชิ้น ให้ผู้เฒ่าผู้แก่เคี้ยวทำพิธีพ่นให้เด็กทารก เพื่อคุ้มครองป้องกันอันตรายจากสิ่งชั่วร้าย
หนามพรหม มีถิ่นกำเนิด ขึ้นอาศัยตามที่โล่งแจ้ง หรือชายป่าดงดิบแล้ง ป่าผลัดใบ และป่าบุ่งป่าทำมบริเวณเนินดินหรือรอยต่อกับป่าบก ชอบดินปนทราย ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 500 ม.
ในประเทศไทยสามารถพบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ต่างประเทศพบในประเทศเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนตั้งแต่ทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของหนามพรม (หนามพรหม)
ต้นหนามพรหม มีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย คือถ้าขึ้นต้นเดี่ยวๆ กลางแจ้ง จะมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม แต่ถ้าขึ้นใกล้กับต้นไม้ชนิดอื่นจะมีลักษณะกิ่งยืดเลื้อยพาดต้นไม้อื่น มีความสูงได้ตั้งแต่ 0.5-5 ม.
ทุกส่วนเมื่อเกิดแผลจะมีน้ำยางสีขาวขุ่น ตามกิ่งอ่อน ก้านใบและช่อดอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย มีหนามแหลมคมออกเป็นคู่ แตก 1-2 ชั้นยาว 1-3 ซม.
ลักษณะใบของหนามพรหม เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน ใบรูปไข่กว้างหรือเกือบกลม ยาว 2-5 ซม. ปลายใบแหลมหรือมีติ่งหนาม โคนใบมน-กลม เนื้อใบหนา ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น ก้านใบ ยาว 1.5-4.5 มม.
ดอกหนามพรหม ออกดอกเป็นช่อดอกแบบกระจุก ยาว 1.5-4 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อน รูปไข่ ยาว 1.5-3 มม. กลีบดอกสีขาว โคนเป็นหลอดยาว 0.5-2 ซม.ปลายแยก 5 แฉก รูปขอบขนาน ยาว 1-1.5 ซม. ปลายเรียวแหลม (ลักษณะคล้ายดอกมะลิ) ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน
ผลหนามพรหม มีลักษณะผลทรงรี กว้างและยาว 1-2 ซม. ผิวเรียบเกลี้ยง เป็นมันเงา ผลสุกสีแดงเข้ม มี 4 เมล็ดต่อผล เมื่อผลสุกเต็มที่สีแดงดำ
ผลแก่ช่วงเดือนกันยายน-เมษายน (ชื่อสกุล Carissa มาจากภาษาสันสกฤต 'kryshina' หรือภาษามาลายาลัมในอินเดีย หมายถึงสีดำของผลสุก)
อ้างอิง : หนังสือเผยแพร่; ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน โดย มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล, ศรันย์ จิระกร กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2561