✓ต้นหญ้าแฝก พันธุ์หญ้าแฝก ที่มีระบบรากใหญ่ ป้องกันหน้าดิน?
หญ้าแฝก มีชื่อวิทยาศาสตร์ Vetiveria zizanioides ชื่อสามัญคือ Vetiver Grass เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่อยู่ในตระกูลหญ้าเช่นเดียวกับ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย และตะไคร้ลักษณะสําคัญของหญ้าแฝก คือ ขึ้นเป็นกอหนาแน่น ขนาดกอค่อนข้างใหญ่ประมาณ 5-20 เซนติเมตร ต่างจากหญ้าอื่นๆ อย่างชัดเจน
ต้นหญ้าแฝก
ข้อมูลรายละเอียดของต้นหญ้าแฝก
ส่วนของใบมีรูปร่างแคบยาว ปลายใบสอบแหลม ด้านหลังใบมีสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ ส่วนโคนของลําต้นจะแบนเกิดจากส่วนของโคนใบที่จัดเรียงพับซ้อนกัน
ลําต้นแท้จะมีขนาดเล็กซ่อนอยู่ในกาบใบบริเวณผิวหน้าดินสําหรับช่อดอกจะอยู่บนก้านช่อดอกซึ่งสูงประมาณ 1.50เมตร หรืออาจสูงถึง 2 เมตร ช่อดอกหญ้าแฝกจะกางออกเป็นรูปฉัตร ความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรฐานกว้าง 15 เซนติเมตร ช่อดอกจะมีทั้งสีน้ําตาล น้ําตาลแดง เทา หรือสีขาวนวล เมล็ดมีลักษณะกลมยาว
หญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถปลูกได้แทบทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดีชาวบ้านรู้จักหญ้าแฝกกันในชื่อ แฝกลุ่ม ขนาก และแฝกท้องขาว เป็นต้น
รากของหญ้าแฝก คือ “ราก” วิเศษ
หญ้าแฝก มีระบบรากที่มีขนาดใหญ่ และมีความพิเศษต่างจากรากของหญ้าทั่วไป จึงถูกนํามาใช้ในการป้องกันหน้าดินได้อย่างดี
กล่าวคือ ระบบรากของหญ้าทั่วไป เป็นลักษณะระบบรากฝอย (fibrousroots) แตกออกจากส่วนลําต้นใต้ดินกระจายออกแผ่กว้างเพื่อยึดพื้นดินตามแนวนอน (horizontal) ส่วนระบบรากในที่เจริญในแนวดิ่ง (vertical) นั้นไม่ลึกมาก
ขณะที่ระบบรากหญ้าแฝก เป็นระบบรากฝอย มี2 ขนาด คือ เส้นโตและเส้นเล็กฝอยขนาดเล็กเส้นโตจะเหนียวและแข็งเจาะลงไปในดินได้ลึก เส้นขนาดเล็ก จะแตกแขนงออกมาจากเส้นใหญ่ สานกันคล้ายร่างแหช่วยยึดเกาะดินได้มั่นคง
ซึ่งข้อมูลการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการสาธิตให้เห็นระบบของราก โดยมีการปลูกหญ้าแฝกจํานวน 6 สายพันธุ์คือ นครสวรรค์ กาญจนบุรี ชัยภูมิ เชียงใหม่ สงขลา 3 และอุดรธานี ในกล่องพลาสติกใส
พบว่า ในระยะเวลา 1 ปีรากของหญ้าแฝกเกือบทุกสายพันธุ์มีรากยาวประมาณ 2 -2.5 เมตร เลยทีเดียว ส่วนรากของหญ้าคา พบมีความยาวในแนวดิ่งเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น
สร้าง “กําแพงดิน” ด้วย “หญ้าแฝก”
การปลูกหญ้าแฝกให้ได้ผลดีนอกจากการเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะกับพื้นที่ปลูกแล้ว วิธีและรูปแบบการปลูกหญ้าแฝกยังให้ผลที่ต่างกันด้วย
ข้อมูลจากสํานักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนําว่า หากเกษตรกรต้องการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จะต้องปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวเดี่ยวตามแนวระดับขวางความลาดชันของพื้นที่เป็นช่วงๆ แถวของหญ้าแฝกจะต้องปลูกถี่สําหรับกล้ารากเปลือยโดยต้องปลูกระยะห่างกัน 5 เซนติเมตร
นอกจากนี้เรายังสามารถปลูกหญ้าแฝกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดิน ด้วยการปลูกเป็นแถวระหว่างพืชหรือไม้ผล โดยปลูกหญ้าแฝกทุกแถวพืช หรือเว้น 1-2 แถว แล้วจึงปลูกหญ้าแฝก 1 แถว เป็นต้น
แต่ถ้าปลูกเพื่อปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรม เช่น นากุ้งร้าง อาจต้องอาศัยการปลูกเต็มทั้งพื้นที่มีระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 50x50 เซนติเมตร
การปลูกหญ้าแฝก
สําหรับการปลูกหญ้าแฝก ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะทําให้หญ้าแฝกตั้งตัวได้เร็ว การดูแลรักษาก็ไม่ยากนัก โดยรดน้ํา 15 วันต่อครั้งในช่วงฤดูแล้ง ใส่ปุ๋ยหมัก 1 ครั้งในช่วงต้นฤดูฝน และกําจัดวัชพืชตามความเหมาะสมเท่านั้น
อย่างไรก็ตามประโยชน์ของหญ้าแฝกไม่ได้มีเพียงการบํารุงรักษาหน้าดินเท่านั้น แต่ใบของหญ้าแฝกยังสามารถนํามาใช้มุงหลังคา ทํากระดาษ เชือก เสื่อ เป็นต้น
อีกทั้งยังใช้เป็นอาหารสัตว์พวก โคกระบือ รวมทั้งใช้เป็นวัสดุคลุมดิน ทําปุ๋ย เพาะเห็ด ได้อีกด้วย นอกจากนี้รากของหญ้าแฝกหอมยังใช้ทําสบู่น้ําหอม เป็นต้นหญ้าแฝกจึงนับเป็นพืชสารพัดประโยชน์ที่ช่วยรักษาทั้งผืนดิน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรอีกด้วย
อ้างอิง : ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ