ทุเรียนมูซังคิง ราชาแห่งทุเรียนมาเลเซีย รสชาติอร่อย ลักษณะ วิธีปลูก พันธุ์มูซังคิง?
ต้นทุเรียน มูซังคิง (Mu Sang King) ราชาแห่งทุเรียนมาเลเซีย รสชาติดี รสหวานจัด กลิ่นฉุน เมล็ดมีขนาดเล็กลีบ มีขีดสีน้ำตาลคล้ายรูปดาวอยู่ที่ก้นผลทุเรียน
ทุเรียนมูซังคิง
ต้นทุเรียนพันธุ์ "มูซังคิง" มีถิ่นเดิมอยู่ประเทศมาเลเซีย ถูกนำมาปลูกในไทย ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จากนั้นจึงขยายมายังภาคตะวันออก อย่าง จันทบุรี และตราด ชาวสวนที่ปลูกทุเรียนรับรู้ได้เร็วว่า ทุเรียนมูซังคิง น่าสนใจ จึงขยายปลูก และได้ผลดีหลายราย ต้นพันธุ์ทุเรียนมูซังคิง มีจำหน่ายทั่วไปทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้
เมื่อ 20 ปีก่อน ทุเรียนมูซังคิง ไม่ใช่ชื่อนี้ แต่มีชื่อเรียกตามพื้นบ้าน เพราะเป็นทุเรียนพื้นบ้านของมาเลเซีย เรียกว่าพันธุ์คุนยิต (Raja Kunyit) แต่ภายหลังเมื่อมีการประกวดทุเรียนภายในประเทศ ในบรรดาทุเรียนจากมาเลเซีย ทุเรียนพันธุ์คุนยิตก็ได้รับเลือกเป็นทุเรียนพื้นบ้านที่มีรสชาติดีที่สุด
และเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศจีน จึงได้รับขนานนามว่าราชาแห่งทุเรียนมาเลเซีย หรือ มูซังคิง (Mu Sang King) แปลตามความหมายของชื่อคือ ราชาแมวป่า และอาจมีเสียงเรียกเพี้ยนไปเป็น เหมาซังคิง หรืออีกชื่อที่เรียกกันเป็นที่เข้าใจของคนมาเลเซีย คือ ราจาคุนยิต (Raja Kunyit) แต่เมื่อเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน ก็ออกเสียงตามสำเนียงจีนว่า เหมาซานหว่อง หรือ เหมาซานหวัง
ปัญหาเรื่องโรครากและโคนเน่าของต้นทุเรียนมูซังคิง เมื่อเรานำมาเปรียบเทียบกับทุเรียนหมอนทอง พบว่า ต้นทุเรียนพันธุ์มูซังคิง นี้จะมีความต้านทานโรคได้มากกว่า
ระยะปลูกต้นทุเรียนมูซังคิงที่เหมาะสม
ระยะปลูกต้นทุเรียนมูซังคิงที่เหมาะสม อยู่ระหว่างแถว 8 เมตร ระหว่างต้น 6 เมตร ควรยกโคกให้สูงขึ้นสำหรับปลูกทุเรียน ต้นจะโตเร็ว ที่สำคัญลดการเกิดโรครากและโคนเน่า โดยทั่วไปเกษตรกรจะกองดินให้สูงขึ้น ตามตำแหน่งที่จะปลูก ปัจจุบันมีการทำร่องคล้ายแปลงผัก เรียกว่า "ร่องแห้ง"
ต้นทุเรียนมูซังคิง มีอายุการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่ดอกบานจนสามารถเก็บได้ ใช้ระยะเวลา 90 วัน ถือว่าเป็นทุเรียนพันธุ์เบา ต้นทุเรียนมูซังคิง เมื่อต้นมีอายุเพียง 28-33 เดือน ก็เริ่มให้ผล แต่การไว้ผลยังไว้ได้ไม่มาก เนื่องจากต้นยังเล็ก อายุการให้ผลผลิตทุเรียนหลังปลูก เดิมเข้าใจว่า 6-7 ปี จึงไว้ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีทันสมัย ต้นโตเร็ว ผู้ปลูกบางคน 4 ปี ก็ไว้ผลแล้ว สาเหตุที่ทำได้ เพราะมีปัจจัยเหมาะสมและเพียงพอ
การเก็บผลผลิตทุเรียนของชาวมาเลเซีย จะปล่อยให้ผลทุเรียนสุกจัดจนหล่นจากต้นเอง จึงเก็บมาจำหน่าย โดยมีความเชื่อว่า การตัดผลทุเรียนก่อนหล่นจากต้น จะทำให้ทุเรียนไม่หล่นเอง ต้องใช้วิธีตัดไปตลอดอายุต้น ซึ่งต้นทุเรียนมีความสูงและยากต่อการตัดผล ซึ่งผลทุเรียนที่สุกจัดจนหล่นจากต้น ก็เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนพันธุ์มูซังคิง ที่กลุ่มผู้บริโภคจีนและมาเลเซียเองนิยม คือ สุกจัด หวานและมัน
"ถ้าเอามากินก่อนผลหล่น เนื้อทุเรียนจะแข็งๆ คนมาเลเซียเองและคนจีนแผ่นดินใหญ่ จะบอกว่า ไม่สุก นิยมกินกับข้าวเหนียวหรือกินเปล่า หรือแกะเอาแต่เนื้อข้างใน แช่ตู้เย็นไว้ ก็จะเก็บไว้กินได้นานถึง 6 เดือน"
สำหรับประเทศไทย มีข่าวออกมาว่า ทุเรียนพันธุ์มูซังคิง มีปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี มีผลผลิตออกมาจำหน่ายให้เห็นแล้ว ผลผลิตที่ได้ออกมาในช่วงใกล้เคียงกับผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก ราวเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน และยังปลูกในภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดคือ พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับมาเลเซียมาก
ผลทุเรียนมูซังคิง ที่มีคุณภาพจะมีเปลือกสีน้ำตาลเทา เมล็ดมีขนาดเล็กลีบ มีกลิ่นฉุน และรสหวานจัด และจุดสังเกตว่าเป็นทุเรียนมูซังคิง คือ ขีดสีน้ำตาลที่มีลักษณะคล้ายรูปดาวอยู่ที่ก้นของผลทุเรียน
ผู้ที่อยากปลูกต้นทุเรียนมูซังคิง สิ่งสำคัญต้องมีคือ ต้องมีระบบน้ำที่ดี และต้องมีไม้บังลม หรือบริเวณนั้นลมไม่แรง หากลมแรง ปีๆ หนึ่งเคยพบเกษตรกรผลผลิตเสียหายเป็นครึ่ง...ทุเรียนมูซังคิงได้รับความนิยมในหมู่คนท้องถิ่น และที่สำคัญสามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศจีนในราคาสูง อนาคตจะเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปมากขึ้น ทุเรียนมูซังคิงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะใช้กินสด รวมทั้งส่งออกไปต่างประเทศ
อ้างอิง