ต้นนมน้อย (หมากต้องแล่ง) ลักษณะ ประโยชน์ สรรพคุณทางสมุนไพร ผลไม้ป่ากินได้?
ชื่อไทยของพรรณไม้ชนิดนี้ มีชื่อทางการ ว่า "นมน้อย " ซึ่งอ้างอิงตามข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย โดย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ. 2557) และยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือ ชื่อท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น ต้องแล่ง, ต้องแล้ง, ต้องแด้ง, น้ำเต้าแล้ง, น้ำน้อย, ก้ามปู เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์, ชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ
- นมน้อย (หมากต้องแล่ง) ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Polyalthia evecta (Pierre) Finet & Gagnep.
- อยู่ในวงศ์ Annonaceae
- ไม่พบข้อมูลชื่อสามัญ ภาษาอังกฤษ
-
ชื่อพ้อง (Synonyms) :
- Miliusa concinna Ridl.
- Unona evecta Pierre
- Unona evecta Pierre ex Laness.
'นมน้อย' (หมากต้องแล่ง)
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ต้นนมน้อย (หมากต้องแล่ง) มีการกระจายพันธุ์ ภูมิภาคอินโดจีน พบที่ลาว กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ มาเลเซีย ในไทยพบแทบทุกภาค ยกเว้นทางภาคเหนือและภาคใต้
ถิ่นอาศัยขึ้นตามที่โล่งแจ้ง พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าผลัดใบ หรือป่าดงดิบแล้งและป่าชายหาดที่ขึ้นบนดินปนทราย และป่าบุ่งป่าทามบริเวณใกล้เนินดินหรือรอยต่อกับป่าดงดิบแล้ง/ป่าเต็งรัง ที่เป็นดินร่วนปนทราย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 600 ม. ทั่วประเทศลงไปถึงจังหวัดชุมพร
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ข้อมูล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นนมน้อย (หมากต้องแล่ง) มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงถึง 1 ม. ตามกิ่งอ่อน ก้านใบ กลีบเลี้ยง แผ่นใบด้านล่าง และกลีบดอกด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลอ่อน
ใบนมน้อย ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ใบรูปหอกกลับ รูปรี-ขอบขนาน ยาว 5–10 ซม. ก้านใบบวม ยาว 3–5 มม. ปลายใบมนหรือเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่มหรือมน ผิวใบด้านล่างมีขนประปรายเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 9-15 เส้น มองเห็นไม่ชัดเจน ปลายเส้นโคงจรดกัน ก้านใบบวม ยาว 5 มม.
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ดอกนมน้อย (ดอกต้องแล่ง) ดอกเดี่ยว ดอกสีเขียวแกมเหลือง สีเหลืองนวล ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่เหนือซอกใบ ออกตามซอกใบ ห้อยลง กลีบดอก 6 กลีบ รูปขอบขนาน ปลายแหลม-มน กลีบดอกเรียง 2 ชั้น ๆ ละ 3 กลีบ ชั้นนอกมีขนาดเล็กกว่าชั้นใน
แผ่นกลีบด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ดอกบานปลายกลีบดอกวงในงุ้มเข้าแตะกันเล็กน้อย สีเหลืองอ่อน ยาว 1 ซม. ก้านดอกยาว 3 ซม. มักมีสีแดง กลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวอ่อน ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้มีประมาณ 30 อัน รูปกรวย ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
ผลนมน้อย (หมากต้องแล่ง) ผลติดเป็นกลุ่ม 2–10 ผล/กลุ่ม ทรงกลม กว้าง 8–10 มม. ปลายมีติ่งสั้นหรือกลม มีขนสั้นนุ่มประปราย-เกลี้ยง ก้านผล ยาว 2 ซม. สีแดงเรื่อ ติดเป็นกลุ่มๆ ละ 3-8 ผล ก้านช่อผลยาว 2-3 ซม. ผลสุกสีแดง-ดำ มี 1 เมล็ด/ผล ผลแก่ช่วงเดือนเมษายน-พฤศจิกายน
ประโยชน์ สรรพคุณ ทางสมุนไพร
นมน้อย (หมากต้องแล่ง) ผลไม้ป่า,พืชที่กินได้, ผลสุก รับประทานได้ ผลสุกสีแดงเข้ม-ดำ รสหวานอมฝาด กินเป็นผลไม้ ปลูกเป็นไม้ประดับ, ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ และเย้า ใช้รากต้มน้ำดื่มแก้อาการปวดท้องและปวดประจำเดือน
ภาพ : กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
สรรพคุณ นมน้อย (หมากต้องแล่ง)
- ทั้งต้น : ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน ถอนพิษของโรคในแมวได้ดี;
- ใบ : ขับพยาธิเส้นด้ายในเด็ก ขับเสมหะ, เป็นยาถ่ายและให้คลื่นเหียนอาเจียน หากรับประทานปริมาณมาก, ใบแห้งป่นโรยรักษาแผลเนื่องจากนอนมาก ยาระบาย แก้หืด ขับเสมหะ
- รากหรือลำต้น : ต้มน้ำดื่มช่วยบำรุงน้ำนมในแม่ลูกอ่อน ช่วยทำให้มีน้ำนมมาก, ใช้ทั้งต้นเข้ายาอื่นๆ รักษาอาการปวดเมื่อย
- ผลสุกกินรักษาอาการท้องร่วง
ที่มา : มานพ ผู้พัฒน์, ปรีชา การะเกตุ, ขวัญใจ คำมงคล และศรัณย์ จิระกร. 2561. ป่าบุ่งป่าทาม ภาคอีสาน. สำนักงานหอพรรณไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรุงเทพฯ.