ผักก้านจอง (บอนจีน, ตาลปัตรฤๅษี) ออกดอกเดือนไหน ประโยชน์ วิธีปลูก ขยายพันธุ์?
ผักก้านจอง (Yellow velvetleaf)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (ชื่อพฤกษศาสตร์)
ผักก้านจอง ชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Limnocharis flava (L.) Buchenau จัดเป็นพืชในสกุล Limnocharis อยู่ในวงศ์ (Alismataceae) ซึ่งพันธุ์พืชนี้ ทางเราจัดไว้ในกลุ่มสมุนไพร
ชื่อที่เป็นทางการ หรือ ชื่อราชการของพืชชนิดนี้ มีชื่อไทยว่า บอนจีน (อ้างอิงจากข้อมูลชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย; เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557)
ต้นบอนจีน ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เป็นชื่อพื้นเมือง หรือชื่อท้องถิ่น ว่า ตาลปัตรฤาษี นางกวัก (ภาคกลาง), บัวค้วก (ภาคเหนือ), บัวลอย (แม่ฮ่องสอน), บอนจีน (ปัตตานี), ผักกันจ้อง ผักคันจ้อง ผักก้านจอง (อีสาน) และมีชื่อสามัญ (ภาษาอังกฤษ) ว่า Yellow velvetleaf, Yellow sawah lettuce, Yellow bur-head
ต้นผักก้านจอง ในประเทศไทยพบขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะ นาข้าว หรือขอบบึง ที่ระดับน้ำลึกไม่เกิน 50 ซม. ในที่โล่งแจ้ง
การกระจายพันธุ์
การกระจายพันธุ์ของผักก้านจอง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ปัจจุบันกลายเป็นวัชพืชในนาข้าว พบทั่วประเทศไทย และเขตร้อนทั่วโลก
ผักก้านจอง ออกดอกเดือนไหน
ต้นผักก้านจอง ออกดอกและผลตลอดปี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักก้านจอง
- ลักษณะวิสัย: ไม้น้ำล้มลุก
- ลำต้น: มีรากยึดติดกับพื้นดินท้องน้ำ ต้นสูง 40-100 ซม.
- ใบ: ก้านใบและก้านช่อดอกเป็นสามเหลี่ยม ใบยื่นพ้นน้ำ รูปไข่กว้าง ยาว 10-25 ซม. ปลายกลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบกลมหรือหยักรูปหัวใจ เนื้อใบอ่อนนุ่ม เกลี้ยงและมีไขเคลือบนวลไม่ติดน้ำ เส้นแขนงใบออกจากโคนใบข้างละ 3-5 เส้น เส้นใบย่อยเรียงตามแนวขวางจำนวนมาก ก้านใบยาว 15-80 ซม. โคนก้านใบสีม่วงอมน้ำตาลและมีกาบ
- ดอก: ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ยอด มี 3-12 ดอก ก้านช่อยาว 10-60 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียว มี 3 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง มี 3 กลีบ รูปไข่กว้างเกือบกลม ยาว 2-2.5 ซม. เมื่อดอกบานกว้าง 3-5 ซม. เกสรเพศผู้สีเหลือง มีจำนวนมาก รูปแถบยาว
- ผล: ผลแตกแนวเดียวจากด้านใน รูปครึ่งวงกลม ผลย่อยยาว 1-1.6 ซม.
- เมล็ด: มีเมล็ดจำนวนมากรูปตัวยู
วิธีปลูกและการขยายพันธุ์
- วิธีการปลูก : เป็นวัชพืชในนาข้าว ร่องนํ้าหรือพื้นที่ชุ่มนํ้าที่นํ้าลึกไม่เกิน 1 ฟุต
- การขยายพันธุ์ : ขยายพันธุ์ได้ดีด้วยการแตกหน่อ และเมล็ดที่หล่นตกค้างในดินหรือไหลไปตามนํ้า.
ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ของผักก้านจอง สามารถนำมาเป็นอาหาร โดยใช้ช่อดอกอ่อน ใบอ่อน และก้านอ่อน มีเนื้อกรอบ รสขมเล็กน้อย เป็นผักสดกินแกล้มส้มตำ หรือลวกจิ้มน้ำพริก หรือย่างกินกับลาบปลาตอง