✓ต้นไม้: โฮย่าอุ้มผาง, เพชรอุ้มผาง, โฮย่านมหิน อุ้มผาง จ.ตาก?
โฮย่าอุ้มผาง (โฮย่านมหิน เพชรอุ้มผาง) เป็นพืชเฉพาะถิ่นและพืชหายากของไทย สถานที่พบครั้งแรก ที่อําเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดย ดร.สันติ วัฒฐานะ และ ทีมงานจากองค์การสวนพฤกษศาสตร์
โฮย่าอุ้มผาง Hoya lithophytica
โฮย่าอุ้มผาง (โฮย่านมหิน เพชรอุ้มผาง) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hoya lithophytica Kidyoo, (2012)
- ชั้น (Clade/Class) : Mesangiosperms
- ชั้นย่อย (Clade/Subclass) : Asterids
- กลุ่ม (Group) : Spermatophytes
- อันดับ (Order) : Gentianales
- วงศ์ (Family) : Apocynaceae
- วงศ์ย่อย (Subfamily) : Asclepiadoideae
- สกุล (Genus) : Hoya
มีถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นไม้เลื้อยสั้นๆ ขึ้นบนหิน ตามป่าละเมาะ มักพบบริเวณที่เปิดโล่งตามหน้าผาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ 850 ม. แหล่งที่พบกระจายพันธุ์แคบๆใน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โฮย่าอุ้มผาง
ต้นโฮย่าอุ้มผาง (โฮย่านมหิน เพชรอุ้มผาง) ไม้ล้มลุก ขึ้นบนหิน ทุกส่วนมียางสีขาว ใบเดี่ยว ขนาดเล็ก เรียงตรงข้าม รูปรี มี 2-3 คู่ ส่วนมากอยู่บริเวณปลายยอด แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ปลายแหลมถึงเรียวแหลมสั้น โคนแหลมถึงมน มีต่อมที่โคน ขอบเรียบ โค้งลงเล็กน้อย
ดอกโฮย่าอุ้มผาง (โฮย่านมหิน เพชรอุ้มผาง) ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม มักออกที่กึ่งปลายยอด หรือออกเหนือซอกใบ มี 5-15 ดอก กลีบเลี้ยงแยกเป็นแฉกลึก 5 แฉก สีขาวอมชมพู รูปไข่แกมรูปสาม เหลี่ยมถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายแหลมหรือมน เกลี้ยงถึงมีขนประปราย ด้านในมีต่อมขนาดเล็ก 1 ต่อม
กลีบดอกรูปวงล้อ กลีบดอกสีขาวถึงสีขาวอมชมพู เป็นไข แฉกกลีบดอกรูปไข่แกมรูปสาม เหลี่ยม ปลายแหลม แผ่กางออกเมื่อบานเต็มที่ ขอบม้วนลงเล็กน้อย รยางค์ประดับสีแดงอมม่วง อวบมีเนื้อ กลุ่มอับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนานเบี้ยว ปลายมน ขอบเรียบ เกสรเพศเมียมีรังไข่ 2 รังไข่ เกลี้ยง
ผลโฮย่าอุ้มผาง ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ยาว เมล็ด มีขนสีขาว
- วันที่เก็บตัวอย่าง: 01/05/2009
- ตัวอย่างต้นแบบ: M. Kidyoo 1500 (holotype: BCU,isotypes: BKF, QSBG)
- ปีที่ตีพิมพ์: ปี 2555
วิธีการปลูกเลี้ยง และการนำมาใช้ประโยชน์
- วิธีการปลูก : ลักษณะแวดล้อมที่เติบโตได้ดี ชอบวัสดุปลูกระบายน้ำดี แดดจัด ชอบอากาศเย็น ทนแล้ง
- การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด ชำกิ่ง ตอนกิ่ง
- ประโยชน์ : มีศักยภาพเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
เอกสารอ้างอิง
- Kidyoo, M. & Watthana, S. 2012. "Hoya lithophytica sp. nov. (Apocynaceae: Marsdenieae), from western Thailand". Nordic Journal of Botany 30: 700–704.
อ้างอิง : ข้อมูลและภาพ จาก พิพิธภัณฑ์พืช ศ.กสิน สุวตะพันธุ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย