✓ต้นไม้: ถั่วแปบช้าง กันภัยใบขน ลักษณะ, ประโยชน์ วิธีการปลูก?
ถั่วแปบช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Afgekia sericea อยู่ในวงศ์ Fabaceae มีชื่ออื่น คือ กันภัย, กันภัยใบขน ชื่อระบุชนิด มาจากภาษาละตินว่า sericus แปลว่า เส้นไหม สื่อถึงขนสีขาวที่ปกคลุมใต้ใบ
ถั่วแปบช้าง
ข้อมูลทั่วไป ถิ่นอาศัย, แหล่งที่พบ
ถิ่นอาศัย พบขึ้นตามชายป่า ป่าไม้พุ่ม ที่รกร้างในป่าเต็งรัง แหล่งที่พบ สามารถพบเฉพาะในประเทศไทย ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง สำหรับสถานภาพในไทย ยังพบได้พอควรในธรรมชาติ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ลักษณะอยู่อาศัย : ไม้เถาขนาดกลาง อายุหลายปี มีขนนุ่มสีขาวปกคลุมทุกส่วน
- ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 18-22 เซนติเมตร มีใบย่อยข้างละ 5-10 ใบ ใบย่อยเรียงตรงข้าม รูปรีขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ขนาด 1-2.5 x3-5 เซนติเมตร ปลายมนมีติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบ
- แผ่นใบ : แผ่นใบด้านล่างมีขนสีขาวคลุมหนาแน่น ก้านใบย่อยสั้น มีหูใบ
- ใบประดับ : ใบประดับสีชมพู รูปขอบขนาน ปลายเรียวแหลม เรียงแน่นที่ปลายช่อดอก
- ดอก : ดอกสีชมพู ออกเป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ยาว 10-12 เซนติเมตร มีดอกจำนวนมาก ก้านช่อดอกยาว 30-80 เซนติเมตร
- กลีบเลี้ยง : กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยก 5 แฉก
- กลีบดอก : กลีบดอกรูปดอกถั่ว 5 กลีบ กลีบกลางสีชมพูอ่อนมีติ่งที่โคน 2 คู่ เหนือติ่งมีแถบสีเขียวแกมสีเหลืองรูปสามเหลี่ยม
- เกสรเพศผู้ : เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนก้านชูอับเรณู 9 อันเชื่อมติดกัน
- เกสรเพศเมีย : รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
- ผล : ผลแบบฝัก รูปแถบ มีขนนุ่มปกคลุม
- เมล็ด : เมล็ดรูปเกือบกลม แข็ง สีดำเป็นมัน
วิธีการปลูกเลี้ยงและการนำมาใช้ประโยชน์
- วิธีการปลูก : ลักษณะแวดล้อมที่เติบโตได้ดี เหมาะสำหรับทำซุ้มไม้เลื้อยประดับในบริเวณที่มีแสงแดดจัด ชอบดินร่วนซุยระบายน้ำดี
- วิธีการขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง
- ประโยชน์ : มีศักยภาพพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
แหล่งอ้างอิง
- สถานที่เก็บตัวอย่าง/บันทึกภาพ : เทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ
- วีรญา บุญเตี้ย และ อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์. 2554. ไม้เลื้อยประดับ. สำนักพิมพ์บ้านและสวน, กรุงเทพฯ. 343 หน้า.
-
Dallimore, W. 1927.Agriculture and Horticulture in Majorca.Kew Bulletin
1927: 376
ที่มา : Biodiversity-Based Economy Development Office (Public Organization)