ต้นกันภัยมหิดล ประวัติความเป็นมา ลักษณะ, วิธีปลูก การใช้ประโยชน์ การขยายพันธุ์?
ชื่อวิทยาศาสตร์ ที่เขียนไว้บนตัวอย่างพรรณไม้ ใช้ชื่อว่า Afgekia mahidolae B. L. Burtt & Chermsir. อยู่ในวงศ์ Leguminosae ใน subfamily: Papilionoideae แต่ถ้าอ้างอิงจาก The Royal Botanic Gardens, Kew จะใช้ชื่อว่า Afgekia mahidoliae B.L.Burtt & Chermsir. อยู่ในวงศ์ Family: Fabaceae Lindl. (ซึ่งในที่นี่จะขออ้างอิงตาม Kew เป็นหลัก)
กันภัยมหิดล
กันภัยมหิดลพบครั้งแรกโดยอาจารย์เกษม จันทรประสงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรายุพิน จันทรประสงค์ (เจิมศิริวัฒน์) ที่น้ำตกไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ.2515 ชื่อชนิด mahidolae ตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ข้อมูลทั่วไป กันภัยมหิดล
ถิ่นอาศัย ที่สามารถพบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง หรือภูเขาหินปูน ระดับต่ำ โดยมีแหล่งที่พบ เป็นพืชถิ่นเดียวของไทย พบเฉพาะใน จังหวัด กาญจนบุรี สำหรับสถานภาพในไทย ยังพบได้บ่อยในพื้นที่ทางตะวันตกของ จังหวัด กาญจนบุรี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ลักษณะอยู่อาศัย เป็นไม้เถาขนาดกลาง อายุหลายปี แตกกิ่งก้าน ลักษณะลำต้น มีขนนุ่มปกคลุมทุกส่วน
- ใบ : ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ รูปขอบขนาน ขนาด 8-12 x15-18 เซนติเมตร มีใบย่อยข้างละ 4-5 ใบ ใบย่อยเรียงตรงข้าม รูปรีแกมขอบขนาน ขนาด 2.2-3.5 x 5-6.5 เซนติเมตร ปลายมนมีติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบ
- แผ่นใบ : แผ่นใบด้านล่างมีขนคลุมหนาแน่นกว่าด้านบน ก้านใบย่อยสั้น มีหูใบเป็นเส้นสั้น
- ดอก : ดอกสีม่วงหรือแกมชมพู ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะที่ซอกใบ ยาว 12-18 เซนติเมตร มีดอกจำนวนมาก
- กลีบเลี้ยง : กลีบเลี้ยงสีม่วงอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยก 5 แฉก ปลายแฉกแหลม
- กลีบดอก : กลีบดอกรูปดอกถั่ว 5 กลีบ กลีบกลางมีติ่งที่โคน 2 คู่ เหนือติ่งมีแถบสีเหลืองรูปสามเหลี่ยม กลีบคู่ข้างสีม่วงเข้ม กลีบคู่ล่างสีนวลหรือสีเหลืองอ่อน
- เกสรเพศผู้ : เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนก้านชูอับเรณู 9 อันเชื่อมติดกัน
- เกสรเพศเมีย : รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
- ผล : ผลแบบฝักสีน้ำตาล รูปแถบ มีขนนุ่มปกคลุม
- เมล็ด : เมล็ดรูปเกือบกลม สีดำเป็นมัน
วิธีการปลูกเลี้ยงและการนำมาใช้ประโยชน์
- วิธีการปลูก : ลักษณะแวดล้อมที่เติบโตได้ดี เหมาะสำหรับทำซุ้มไม้เลื้อยในบริเวณที่มีแสงแดดจัด ชอบดินร่วนระบายน้ำดี และควรหมั่นตัดแต่งอยู่เสมอ
- วิธีการขยายพันธุ์ : ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด และตอนกิ่ง
- ประโยชน์ : มีศักยภาพพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
แหล่งอ้างอิง
- สถานที่เก็บตัวอย่าง/บันทึกภาพ : ศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
- เอกสารอ้างอิง : ทวีศักดิ์ บุญเกิด. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. บริษัทเพื่อนพิมพ์ จำกัด, กรุงเทพฯ. 581 หน้า
- วีรญา บุญเตี้ย และ อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์. 2554. ไม้เลื้อยประดับ. สำนักพิมพ์บ้านและสวน, กรุงเทพฯ. 343 หน้า.